'เงินบาท’ อ่อนแตะ 35 ต่อดอลล์ ผวาการเมือง - ฟิทช์หั่นเรตติ้ง บจ.บางกลุ่ม

'เงินบาท’ อ่อนแตะ 35 ต่อดอลล์ ผวาการเมือง - ฟิทช์หั่นเรตติ้ง บจ.บางกลุ่ม

“เงินบาท” อ่อนค่าแตะระดับ 35 ต่อดอลลาร์ ทำสถิติอ่อนค่าสุดรอบ 3 เดือน ทั้งยังอ่อนสุดในภูมิภาคในวันนี้ เชื่อนักลงทุนกังวลปัจจัยการเมืองประเด็นการตั้งรัฐบาลล่าช้า ขณะ “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ส่อหั่นเครดิตบริษัทไทยจำนวนหนึ่ง

นักลงทุนเริ่มจับตา “ค่าเงินบาท” อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง จากในวันนี้ (22 มิ.ย.2566) อ่อนค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ โดยมาปิดตลาดที่ระดับ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับการอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือน และยังเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากสุดในภูมิภาคอีกด้วย

โดยในวันนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 0.65% รองลงมาคือ เงินวอน เกาหลีใต้ อ่อนค่าลง 0.5% ส่วนอันดับ 3 อ่อนค่าลงเท่ากันที่ 0.15% คือ เงินริงกิต มาเลเซีย , เงินหยวน จีน และ เงินดอลลาร์สิงคโปร์ 

“เงินบาท” อ่อนค่าแตะระดับ 35 ต่อดอลลาร์ ทำสถิติอ่อนค่าสุดรอบ 3 เดือน

 

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สาเหตุที่เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าในช่วงนี้ เป็นผลจากปัจจัยเฉพาะตัวคือ เรื่องการเมืองในประเทศ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติยังรอดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้หลังจากนี้ 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความเสี่ยงจากกรณีที่ ฟิทช์ เรทติ้งส์ อาจดาวน์เกรดบริษัทไทยจำนวนหนึ่งในปีนี้ด้วย โดยแม้ว่าเครดิตเรตติ้งของบริษัทไทยส่วนใหญ่จะมีเสถียรภาพ แต่ยังมีมุมมองเชิงลบ ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง 

ส่วนประเด็นที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เป็นปัจจัยที่กระทบตลาดการเงินทั่วทั้งภูมิภาค

ทางด้านกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ยังไม่ได้พบแรงขายออกที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นแรงขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย ระดับ 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มาก เทียบกับช่วงก่อนหน้านี้บางวันมีแรงขายออกในระดับหมื่นล้านบาทต่อวัน 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดหุ้นไทยคาดว่าต่างชาติอาจจะยังขายสุทธิต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนกลุ่มนี้เทขายหุ้นไทยรวมกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทระยะสั้น คาดว่า ยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อได้ แต่ระดับการอ่อนค่าจะไม่มากนักแล้ว เพราะการที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าสวนทางตลาดโลก  ต้องมีปัจจัยเฉพาะตัวที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานเศรษฐกิจไทย  

ขณะเดียวกันพบว่า ค่าเงินบาทยังแกว่งตัวย่ำฐานที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ พบว่า มีทั้งแรงซื้อแรงขายเข้ามาสลับกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนมากเกินไป เมื่อเทียบกับภูมิภาค และแรงขายดอลลาร์ของผู้ส่งออก 

มองกรอบระยะสั้นค่าเงินบาท ให้แนวต้านแรกที่ระดับ 35.15 บาทต่อดอลลาร์  ยังไม่เห็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทย และตลาดรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ และทิศทางดอกเบี้ยของเฟดเป็นหลัก  ส่วนแนวรับแรกที่ระดับ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ถ้าหลุดลงมาจะเข้ากรอบแนวรับเดิมที่ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ 

 "ในช่วง 5-6 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทยังย่ำฐาน แกว่งตัวออกข้าง ยังไม่เลือกทางจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า แนะนักลงทุนอย่าประมาท  ผู้นำเข้า และผู้ส่งทำการป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงิน" 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า  ปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่าในวานนี้  มาจากทั้งแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ  โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทย จากการปรับตัวลงของดัชนี SET และ SET50 และการเพิ่มสถานะ Short SET50 futures ของนักลงทุนต่างชาติ 

รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำได้ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างในช่วงบ่ายสอดคล้องกับการอ่อนค่าทดสอบของเงินบาทใกล้ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ 

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ไปได้มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะในฝั่งผู้ส่งออกต่างก็ทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (เก็งค่าเงินบาทอ่อนค่าลง) เริ่มมีการขายทำกำไรสถานะดังกล่าวบ้าง

นางสาวกาญจนา  โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงสอดคล้องกับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในวันนี้มีสถานะเป็น Net outflows ออกจากตลาดพันธบัตร 2,780 ล้านบาท และขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องอีก 927.69 ล้านบาท

ทั้งนี้ตลาดยังคงรอติดตามสุนทรพจน์ของประธานเฟดต่อคณะกรรมาธิการ การธนาคารประจำวุฒิสภาในคืนนี้อีกครั้งเพื่อประเมินสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ ในระยะข้างหน้า 
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.2566)  คาดไว้ที่ 34.80-35.10 บาทต่อดอลลาร์โดยตลาดรอติดตามทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองของไทย และข้อมูล PMI ขั้นต้นสำหรับเดือนมิ.ย. ของสหรัฐ ยูโรโซน และอังกฤษ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์