SAM ชี้ ทรัพย์ ‘NPA’ ดีมานด์ทะลัก ภาคตะวันออก-ชลบุรี-ภูเก็ตฮอต!

SAM ชี้ ทรัพย์ ‘NPA’ ดีมานด์ทะลัก ภาคตะวันออก-ชลบุรี-ภูเก็ตฮอต!

“บสส.”ชี้ ดีมานด์ซื้อ“เอ็นพีเอ”ทะลัก หลังเศรษฐกิจฟื้น ธุรกิจ-รายย่อยแห่เก็บทรัพย์เก่าพุ่ง โดยเฉพาะในภาคตะวันออก“ภูเก็ต-ชลบุรี” ส่วนหนี้เสีย“แบงก์-นอนแบงก์”แห่ขายพุ่ง คาด 1.5 แสนล้าน ทุบสถิติสูงกว่าช่วงก่อนโควิด เหตุ หมดมาตรการช่วยลูกหนี้

      ปัจจุบันเศรษฐกิจไทย เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้หลายภาคธุรกิจฟื้นตัว และเริ่มการขยับขยายกิจการ กลับมาทำธุรกิจมากขึ้นสอดคล้องกับล่าสุด ที่เริ่มเห็นภาคธุรกิจ หรือรายย่อย ที่กลับมาลงทุนเพื่อแสวงหาโอกาสมากขึ้นในระยะข้างหน้า ผ่านการซื้อสินทรัพย์รอการขาย (NPA)เพิ่มขึ้น 

      นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นความต้องการ(ดีมานด์)จากภาคธุรกิจและรายย่อย กลับมาซื้อสินทรัพย์รอการขาย(NPA)มากขึ้น หลังจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องทำให้เริ่มเห็นโอกาสจากสินทรัพย์เหล่านี้
 

        โดยเฉพาะสินทรัพย์รอการขาย ในภาคพื้นที่ภาคตะวันออก และภูเก็ต ชลบุรี ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนโรงแรมนั้น มีเข้ามาเจรจาซื้อบ้าง แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจา ดังนั้น บริษัท คาดว่าปีนี้น่าจะเห็นการปิดดีลขายสินทรัพย์รอการขายได้ตามเป้าที่ 2.6 พันล้านบาท จากปีก่อนหน้า ที่มียอดขายอยู่ที่ 2.4 พันล้านบาท

       “วันนี้สถานการณ์เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มเห็นดีมานด์การกลับมาซื้อNPAค่อนข้างมาก ทั้งซื้อเพื่อลงทุน หรือเพื่อต่อยอดหาผลตอบแทนต่างๆ โดยเฉพาะในภาคที่มีการฟื้นตัวได้ดี เช่น พื้นที่ภาคตะวันออก ภูเก็ต ชลบุรี ที่ได้รับผลบวกจากท่องเที่ยวฟื้น ดังนั้นคาดว่าปีนี้เราน่าจะขายหนี้ทรัพย์เก่าได้ตามเป้าหมาย2.6พันล้านบาท”

         ส่วนยอดขายหนี้เสีย ปัจจุบันแบงก์ และ นอนแบงก์ ส่งจดหมายให้บริษัทเข้ามาประมูลหนี้แล้วในช่วง เม.ย. และพ.ค. อยู่ที่ระดับ 7-8 หมื่นล้านบาท และปัจจุบันยอดขายหนี้เพิ่มขึ้นแตะระดับ 9 หมื่นล้านบาทแล้ว

        ซึ่งถือว่าแบงก์นำหนี้ออกมาขายอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นปี เมื่อเทียบกับที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่จะเริ่มขายหนี้ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป 

    ดังนั้นคาดว่าน่าจะเห็นการขายหนี้ทอดตลาดปีนี้กว่า 1.5 แสนล้านบาทได้ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3-4 ปี หรือมากกว่าหากเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ที่การขายหนี้อยู่ที่ระดับ 1 แสนล้านบาทต้นๆ

      “สถานการณ์ซื้อหนี้เสีย ปีนี้หนี้ที่แบงก์ และนอนแบงก์ขายทอดตลาดออกมาจำนวนมาก โดยเพิ่มเป็นเท่าตัวหากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เฉพาะที่ให้เราเข้าประมูลหนี้ ตัวเลขเม.ย.-พ.ค. ก็กว่า 7 หมื่นล้านบาทแล้ว และหากถึงตอนนี้ก็น่าจะเห็น 8-9 หมื่นล้านบาท”

      ส่วนการเข้าไปซื้อหนี้ของบริษัทปีนี้ตั้งเป้าเข้าไปซื้อราวกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยคาดใช้งบลงทุนราว 7 พันล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาใช้เงินลงทุนซื้อหนี้ไปแล้วกว่า 2พันล้านบาท คิดเป็นหนี้ที่ได้มาเกือบ 5พันล้านบาท

       โดยสถานการณ์ขายหนี้เสียปีนี้มองว่า แบงก์ และนอนแบงก์มีการขายหนี้เร็วขึ้น และเป็นหนี้สด ที่จะทยอยออกมาขายมากขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการเงินหน้าใหม่ๆ ที่เริ่มออกมาขาย และกลับมาขายอีกครั้งในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา เช่นแบงก์รัฐ เนื่องจากปัจจุบันใกล้หมดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ทำให้แบงก์​ และนอนแบงก์ เริ่มเห็นสถานะลูกหนี้ชัดเจนมากขึ้นจึงมีการขายหนี้ออกมา เพื่อควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

      “แบงก์ และนอนแบงก์ ขยับเร็วขึ้น ขายหนี้ออกมาเร็ว หากเทียบกับที่ผ่านมา เพราะตอนนี้ถือว่าสะเด็ดน้ำแล้ว ทุกอย่างเริ่มนิ่ง มาตรการใกล้หมด ทุกคนเห็นภาพลูกหนี้ชัดเจนมากขึ้น จึงรีบขายหนี้ออกมาก่อน เพราะกลัวซัพพลายล้น และหนี้ส่วนใหญ่ที่ออกมาขาย ก็เป็นหนี้บ้าน หนี้เอสเอ็มอี และเริ่มเห็นหนี้ใหม่มากขึ้น เช่นเป็นหนี้เสีย120 วันแบงก์ก็ขายออกมาแล้ว”