บลจ.อีสท์สปริง ชูกองทุนหุ้นปันผลโลก ชี้เป็นทางเลือกสู้เศรษฐกิจถดถอย

บลจ.อีสท์สปริง ชูกองทุนหุ้นปันผลโลก ชี้เป็นทางเลือกสู้เศรษฐกิจถดถอย

บลจ.อีสท์สปริง เปิดขายกองทุนหุ้นปันผลโลก ES-GDIV-Acc 19-23 มิ.ย.นี้ มูลค่ากองทุน 5,000  ล้านบาท ลงทุนผ่านกองหลักของเจพีมอร์แกน และตามแนวทาง ESG ชี้เป็นทางเลือกสู้เศรษฐกิจถดถอย

นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด  หรือ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 กองทุนหุ้นกลุ่มปันผลเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากมีอัตราจ่ายเงินปันผลที่ดีอย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย  

บริษัทฯ จึงได้เปิดขายกองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Dividend Equity สะสมมูลค่า (ES-GDIV-Acc) ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นปันผลทั่วโลก ระหว่างวันที่ 19-23 มิถุนายนนี้ มูลค่าโครงการ 5,000  ล้านบาท ลงทุนขั้นต่ำเพียง1,000 บาท

 

สำหรับกองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Dividend Equity สะสมมูลค่า เป็นกองทุนที่ไม่มีนโยบายจ่ายปันผล  เน้นลงทุนในกองทุนหลัก คือ JPMorgan Global Dividend Fund – Class C (acc) USD เพียงกองทุนเดียว โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งจะลงทุนในตราสารทุนทั่วโลกรวมถึงตลาดเกิดใหม่ที่สร้างรายได้ในระดับสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 67 ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนหลัก และสินทรัพย์ของกองทุนหลักอย่างน้อยร้อยละ 51 จะลงทุนในบริษัทที่มีคุณลักษณะด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมในเชิงบวก ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลที่วัดได้จากวิธีการให้คะแนน ESG ของผู้จัดการการลงทุน ซึ่งบริหารจัดการโดย J.P. Morgan Asset Management  
 

ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือกหลักทรัพย์ใช้การวิเคราะห์โดยพิจารณาพื้นฐานบริษัท ไปอุตสาหกรรมและภาพรวมเศรษฐกิจ ตลอดจนเลือกลงทุนในบริษัทที่ให้ปันผลสม่ำเสมอ และบริษัทที่มีศักยภาพในการจ่ายปันผลที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระจายลงทุนประมาณ 40-90 บริษัท ในหมวดอุตสาหกรรมสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ กลุ่มยาและเทคโนโลยีการแพทย์ 9.9% , กลุ่มเทคโนโลยี Semi & Hardware 9.2% , กลุ่มธนาคาร 8.6% กลุ่มบริการการเงิน 8.1% และกลุ่มเทคโนโลยีและซอฟแวร์ 6.1% และมีสัดส่วนการลงทุนในสหรัฐ 55.3% ยุโรป 18.7% ตลาดเกิดใหม่ 8% สหรัฐราชอาณาจักร 6% (ณ วันที่ 30 เมษายน 2566) 

 

“ในช่วงไตรมาสที่ 2 เราเริ่มเห็นหลายประเทศเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค(Technical Recession) ไปแล้วเช่น เยอรมัน หรือยุโรป และคาดว่าจะมีบางประเทศเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคมากขึ้น ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนหลายกลุ่มถูกปรับลดลง อย่างไรก็ตามในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอน หุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูงกลับทำผลตอบแทนได้อย่างน่าสนใจ ขณะที่ปัจจุบันระดับมูลค่ารวมถึงอัตราการจ่ายเงินปันผลของหุ้นกลุ่มนี้อยู่ในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอดีต จึงเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะใช้หุ้นปันผลเป็นตัวรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้น”