รู้จัก Virtual Bank คืออะไร แล้วจะเปลี่ยนโครงสร้างระบบการเงินไทยอย่างไร? 

รู้จัก Virtual Bank คืออะไร แล้วจะเปลี่ยนโครงสร้างระบบการเงินไทยอย่างไร? 

เปิดนิยาม “Virtual Bank” หลังเอสซีบีเอกซ์ (SCBX) “ยานแม่” กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของไทย ประกาศ ความพร้อม ในการเตรียมยื่นขอใบอนุญาต จากแบงก์ชาติ ด้าน “ดร.จิติพล” เชื่อไม่เปลี่ยน “โครงสร้างการเงิน” เหตุเงื่อนไขระบุต้องจับมือกับแบงก์พาณิชย์ 

Key Points

  • เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ยืนยันความพร้อมเตรียมยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขาจากแบงก์ชาติ
  •  Virtual Bank คือธนาคารไร้สาขาที่ไม่อิงกับระบบธนาคารแบบดั้งเดิม
  • Mobile Banking เป็นเพียงส่วนต่อขยายของธนาคารแบบดั้งเดิม
  • ดร.จิติพล เผย ลักษณะธนาคารดังกล่าวไม่เปลี่ยนโครงสร้างการเงินไทยแน่นอนเพราะเงื่อนไขบังคับตั้งเกิดจากบริษัทเทคฯ จับมือกับแบงก์พาณิชย์

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแนวคิด การตั้งธนาคารไร้สาขาหรือ “Virtual Bank” เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง จนล่าสุดเอสซีบี เอกซ์ (SCBX) “ยานแม่” กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของไทย ยืนยันความพร้อมเตรียมยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แม้ในประเทศไทย จำนวนธนาคารพาณิชย์จะมีอยู่จำนวนมาก ทว่า การให้ใบอนุญาติครั้งนี้ ธปท. จะเปิดให้ตั้งได้เพียง 3 รายเท่านั้น เพื่อให้สามารถดูแลความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ทั่วถึงมากขึ้น อีกทั้งการมีเวอร์ชวลแบงก์จำนวนมาก ท้ายที่สุดอาจลามกระทบ ต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ หากระบบธนาคารดังกล่าวเกิดปัญหาในอนาคต 

ดังนั้นมองว่า การมีเวอร์ชวลแบงก์แม้มีจำนวนน้อย แต่หากมีคุณภาพ และทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ไปสู่คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน ให้สามารถ “เข้าถึงบริการ” ได้มากขึ้น อาจเป็นจุดประสงค์หลักมากกว่าในการผลักดันครั้งนี้

ดังนั้นการเปิดให้ไลเซนส์เพียง 3 ราย หากเทียบกับความสนใจของภาคธุรกิจ ทั้งในแวดวงธนาคาร อีคอมเมิร์ซ ธุรกิจค้าปลีก คมนาคม  อาจทำให้เกิด “สมรภูมิการแข่งขัน” ที่ดุเดือดอย่างมาก

 ก่อนที่ทุกคนจะมีโอกาสสัมผัสธนาคารเสมือน วันนี้ (17 มิ.ย.) กรุงเทพธุรกิจชวนทำความเข้าใจแนวคิดของธนาคารดังกล่าวและแตกต่างจากธนาคารในแบบเดิมอย่างไร

“Virtual Bank” คืออะไร

นิยามของเวอร์ชวลแบงก์นั้นแตกต่างไปตามแต่ละประเทศ ทว่าหากอ้างอิงตามนิยามของแบงก์ชาติ ธนาคารในลักษณะดังกล่าวคือ “ธนาคารที่ทำธุรกิจบนดิจิทัลเต็มรูปแบบ” โดยมีลักษณะเด่นทั้งหมด 2 อย่างคือ

  1. เป็นธนาคารที่ไม่มีสาขา ไม่มีตู้เอทีเอ็ม (ATM) แต่สามารถมีสำนักงานใหญ่ได้
  2. ธนาคารที่เข้ามาขออนุญาตจำเป็นต้องให้บริการทางการเงินบนระบบดิจิทัล ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำแบบเต็มรูปแบบ 

“Virtual Bank” แตกต่างจาก “Mobile Banking” อย่างไร

ประเด็นข้างต้นเป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนสอบถามแบงก์ชาติอย่างมากเพราะในยุคปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างดำเนินงานผ่านระบบดิจิทัลเกือบทั้งหมดแล้ว เช่นการสแกนจ่ายด้วยแอปพลิเคชันของธนาคาร หรือการโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง 

โดยแบงก์ชาติระบุว่า รูปแบบการดำเนินธนาคารแบบเวอร์ชวลแบงก์มีหัวใจหลักคือ “ธนาคารไร้สาขา” เนื่องจากการไม่มีสาขาจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์หลุดออกจากกรอบการดำเนินงานแบบเดิม คือ

  • จำนวนบุคลากรลดลง
  • กระบวนการสั้นขึ้น
  • การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น

ขณะที่การทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งยังต้องอาศัยการดำเนินการผ่านสาขาของธนาคารต่างๆ

ทั้งนี้เวอร์ชวลแบงก์ยังแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม ในประเด็นเรื่อง “ระบบคอมพิวเตอร์หลัก” ที่ใช้ดำเนินงาน (Core Banking System) อีกด้วยโดยระบบดังกล่าวของธนาคารแบบดั้งเดิมพัฒนามาจากเทคโนโลยีเก่าที่ขาดความยืดหยุ่นและขาดการเชื่อมโยงกับระบบรอบข้างอื่น รวมทั้งไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Legacy system)

โดยระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งนั้นเป็นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้ดำเนินงานรูปแบเดิมประกอบกับการให้บริการทางกายภาพที่แต่ละสาขาของธนาคาร

รวมทั้ง การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งผ่านระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้ดำเนินงานที่พัฒนาขึ้นใหม่ แต่ยังคงใช้โครงสร้างพื้นฐานรอบข้างแบบเดิม ทำให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ยังคงเผชิญอุปสรรคด้านความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน การบริหารจัดการทรัพยากรภายใน รวมถึงข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์การกำกับดูแลอยู่บ้าง

ดังนั้น ด้วยลักษณะเวอร์ชวลแบงก์ที่ดำเนินงานผ่านช่องทางดิจิทัลโดยไม่มีสาขาและมีระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้ดำเนินงานบนเทคโนโลยีใหม่ที่มีความยืดหยุ่นสูง ที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลข้างเคียงส่งผลให้ การดำเนินธนาคารในลักษณะดังกล่าวมีประโยชน์หลัก 3 ข้อคือ

1. ต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม

2. มีความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ได้อย่างง่ายดายเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

3. ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ในการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า สำหรับประเทศไทย หากมีการตั้งเวอร์ชวลแบงก์อาจไม่กระทบโครงสร้างการเงินของประเทศไทยมากเพราะเงื่อนไขการจัดตั้งยังเป็นการจับมือระหว่างธนาคารพาณิชย์และบริษัททางเทคโนโลยีอยู่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะแตกต่างออกไปคือต้นทุนการประกอบธุรกิจจะน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงบุคลากร ค่าเช่าออฟฟิศ หรือค่าดำเนินการธนาคารอีกจำนวนหนึ่ง 

อยากไรก็ดี เวอร์ชวลแบงก์แตกต่างจาก โมบายแบงกิ้งเพราะ เป็นเอกเทศจากธนาคารปกติ 100% แต่โมบายแบงกิ้งเป็นเพียงส่วนต่อขยายของระบบธนาคารแบบปกติ 

หากดูการตั้งเวอร์ชวลแบงก์ที่ผ่านมา ปัจจุบันยังไม่ค่อยเห็น ประเทศไหน สร้างธนาคารในลักษณะดังกล่าวได้ 100% ยกเว้นจีนสมัยก่อนที่จะมีการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ตอนนั้น "บิ๊กเทค" ขนาดใหญ่ของจีนจำนวนมากต่างกระโดดเข้ามาทำธุรกิจการเงิน

“ส่วนในสหรัฐอเมริกาจะเป็นรูปแบบที่บริษัทบิ๊กเทคใหญ่อย่าง แอปเปิลเข้าไปจับมือกับธนาคารเพื่อทำเวอร์ชวลแบงก์ แต่ของอเมริกาเป็น Profit Driven คือหากไม่มีกำไรก็อาจจะยกเลิกการทำได้ ไม่ใช่นำผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นตัวตั้ง”

ตัวอย่าง “Virtual Bank” ต่างประเทศ

1. Nubank ของบราซิล ซึ่งเป็นเวอร์ชวลแบงก์รายแรกๆ ที่มีเงินทุน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 49,500 ล้านบาทรวมทั้งมีลูกค้า 35 ล้านคน เริ่มจากการให้บริการบัตรเครดิตที่ไม่คิดค่าธรรมเนียม คิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ และขยายบริการด้านอื่น เช่น ทั้งบัญชีเงินฝากดิจิทัล บัตรเดบิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ผ่านทางแอปพลิเคชัน

2. Starling Bank เวอร์ชวลแบงก์แห่งแรก ของสหราชอาณาจักร มีฐานลูกค้ากว่า 2.7 ล้านคน โดยให้บริการทางการเงินต่อธุรกิจขนาดเล็ก รวมทั้งประชาชนทั่วไป และใช้งานในต่างประเทศโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ซึ่งให้บริการตลาด 24 ชั่วโมง

3. Kakao Bank เวอร์ชวลแบงก์ในเกาหลีใต้ มีจำนวนลูกค้ากว่า 17 ล้านคน และมีผู้ใช้งานถึง 11 ล้านคนต่อเดือน โดยมีฐานลูกค้าเดิมที่ต่อยอดมาจาก Kakao Talk มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้ Kakao Bank โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย คิดดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าธนาคารดั้งเดิม และไม่คิดค่าธรรมเนียมสำหรับบริการด้านอื่นๆ

4. WeBank เวอร์ของกลุ่ม Tencent ผู้ให้บริการ WeChat โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 100 ล้านคน สามารถนำข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า มาประมวลผลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยืดหยุ่น เช่น การนำพฤติกรรมของลูกค้าด้านการใช้สื่อโซเชียลมาจัดทำ ลำดับเครดิต (Credit Scoring) แบบใหม่ และอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็ว