สรรพสามิตเผย“ปตท.- เอสซีจี”สนใจนำเอทานอลผลิตไบโอเอทีลีน

สรรพสามิตเผย“ปตท.- เอสซีจี”สนใจนำเอทานอลผลิตไบโอเอทีลีน

สรรพสามิตเผย ผู้ประกอบการ 2 ราย คือ “ปตท.- เอสซีจี” สนใจนำเอทานอลไปผลิตเป็นไบโอเอทีลีน เพื่อนำไปผลิตพลาสติกชีวภาพ โดยกรมจะส่งเสริมด้วยการยกเว้นภาษี ขณะที่ เงื่อนไขในการผลิตจะต้องเข้มงวด โดยโรงงานที่ผลิตต้องไม่รับอ้อยหรือมันที่มาจากการเผา เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์  รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีผู้ประกอบการ  2 ราย แสดงเจตจำนงที่จะนำเอทานอลไปผลิตเป็นไบโอ เอทีลีน (bio-based ethylene) เพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพ นำไปทดแทนพลาสติกในปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มเอสซีจี และกลุ่มบมจ.ปตท.  เป็นต้น และเชื่อว่าจะมีเอกชนอีกหลายราย สนใจนำเอทานอลไปผลิตต่อยอดเป็นพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของโลก ที่หันมาใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ลดมลพิษ

สำหรับมาตรการภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นไปตามนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)  และสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG ) หากเอกชนรายใด นำเอทานอล ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพ จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับการนำไปผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง  โดยปัจจุบันภาษีเอทานอลจัดเก็บในอัตราลิตรละ 80 บาท  เป็นภาษีกลุ่มเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ การยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้น้ำมันผสมเอทานอล แต่อาจจะต้องมีเงื่อนไขชัดเจนว่า อ้อยที่นำมาผลิตเอทานอลนั้น ต้องไม่เผา  ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เป็นต้น โดยกรมสรรพสามิต จะต้องหารือกับโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อนำเงื่อนไขไปแจ้งชาวไร่อ้อย ชาวไร่มันสำปะหลัง เพื่อแก้ปัญหามลพิษจากการเผาทำลายสิ่งแวดล้อม

“ขณะนี้กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างการจัดรายละเอียดมาตรการทางภาษี เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเอทานอลไปใช้ผลิตพลาสติกชีวภาพมากยิ่งขึ้น  คาดว่าจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)​ของรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาอนุมัติ เนื่องจากไม่สามารถเสนอได้ทันในรัฐบาลชุดนี้”

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทย มีโรงงานผลิตเอทานอล จากอ้อยและมันสำปะหลัง จำนวน 28 โรงงาน มีกำลังการผลิต 28,000 ล้านลิตรต่อปี ขณะที่ ความต้องการใช้จริง เพื่อนำไปผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง 1,500 ล้านลิตรต่อปี ดังนั้น ในส่วนที่เหลืออีก 1,300 ล้านลิตร สามารถนำไปผลิตเป็นไบโอ เอทีลีน เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพ  เพื่อจำหน่ายในประเทศและในอนาคตสามารถส่งออกได้ด้วย

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า สำหรับการนำเอทานอลมาผลิตเป็นไบโอ เอทิลีนนั้น สร้างประโยชหลายด้าน อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม  สามารถย่อยสลายได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพลาสติก 1 ล้านตัน สามารถดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 3 ล้านตัน  ด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งเน้นการนำทรัพยากรชีวภาพมาผลิตและใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างรายได้ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ประเทศ ส่งเสริมการส่งออกและลดข้อจำกัดของมาตรการภาษีคาร์บอนของต่างประเทศ และด้านการเกษตร ช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศให้เทียบมาตรฐานสากล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อมุ่งสู่เกษตรอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้เกษตรกร