สศค.ชี้การลงทุนที่มิใช่ด้านกายภาพ ความหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

สศค.ชี้การลงทุนที่มิใช่ด้านกายภาพ ความหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

นักวิชาการสศค.ชี้การลงทุนอาจเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังโควิด ระบุ หากรัฐหนุนลงทุนแต่ละสาขาเท่ากันจำนวน 1 ล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจและรายได้ครัวเรือนสูงขึ้นในกลุ่มสาขาการลงทุนที่มิใช่ด้านกายภาพ และทำให้ GDP เพิ่มขึ้นสูงที่สุดถึง 1.39 ล้านบาท

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ และ ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล สังกัดกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เขียนบทความในหัวข้อ”การลงทุนที่มิใช่ด้านกายภาพ ความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลัง COVID -19”

โดยระบุว่า หลังจากที่ประเทศไทยฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap) ได้เร็วขึ้น คือ การลงทุน เห็นได้จากการขยายการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าและบริการ นอกจากจะทำให้การผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยให้การส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย ผลที่ตามมาคือ ระดับการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ภายใต้ความจำกัดของทรัพยากรและงบประมาณ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้กับการลงทุนที่ตรงจุด (Target) และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ระบบเศรษฐกิจ

ย้อนกลับไปก่อนปี 2540 การลงทุนรวมของไทย (ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน) มีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึงกว่าร้อยละ 40 ของ GDP ซึ่งแม้จะเป็นระดับที่มักถูกวิจารณ์ว่าเป็นการลงทุนที่สูงเกินไปและมีการลงทุนจำนวนมากในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนรวมของไทยในช่วง 10 ปีหลังมานี้ (พ.ศ. 2556-2565) จะพบว่าการลงทุนไทยลดลงอย่างชัดเจนโดยมีสัดส่วนอยู่ที่ราวร้อยละ 24.0 ของ GDP เท่านั้น และหากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Countries) ด้วยกัน ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนรวมสูงราวร้อยละ 31 ของ GDP ก็จะเห็นว่าไทยมีระดับการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด

การลงทุนจึงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่ด้วยทรัพยากรที่จำกัด การเลือกลงทุนในสาขาที่เหมาะสม จะช่วยให้เกิดความคุ้มค่าและสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า

โดยการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มกิจกรรมการผลิตของแต่ละสาขาในลักษณะนี้ หนึ่งในวิธีที่นิยมใช้ คือ บัญชีเมตริกซ์สังคม (Social Accounting Matrix: SAM) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จำลองกระแสการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ละสาขาของประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งการหมุนเวียนของการผลิต รายได้ และรายจ่ายในระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนการกระจายรายได้ของครัวเรือน ทำให้สามารถวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสาขาหนึ่งๆ ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสาขาอื่นๆ ได้อย่างเป็นระบบ

สศค.จึงได้นำบัญชีเมตริกซ์สังคมมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย พบว่า หากภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในแต่ละสาขาเท่ากันจำนวน 1 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือนสูงในกลุ่มสาขาการลงทุนที่มิใช่ด้านกายภาพ (Non-physical Investment)

โดยเฉพาะสาขาการศึกษาและการวิจัย และสาขาดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นสูงที่สุดถึง 1.39 และ1.36 ล้านบาท ตามลำดับ และทำให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 1.05 และ 1.03 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนดังกล่าวมีส่วนรั่วไหล โดยเฉพาะการนำเข้า (Import Leakage) ออกจากระบบเศรษฐกิจน้อยกว่าและเกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศที่สูงกว่าการลงทุนด้านอื่น ๆ และการลงทุนทั้งสองด้านดังกล่าว ยังส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังสาขาการผลิตอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สาขาบริการสาขาการค้า และสาขาสาธารณูปโภค อีกด้วย ส่งผลให้การลงทุนในกลุ่มสาขาที่มิใช่ด้านกายภาพส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่ากลุ่มสาขาด้านกายภาพ

ดังนั้น ในระยะข้างหน้า การลงทุนจึงเป็นความหวังของประเทศไทยที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มิใช่ด้านกายภาพซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า อาทิ การศึกษาวิจัย ดิจิทัล บริการทางการเงิน และ Soft power เป็นต้น ซึ่งจะเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของทรัพยากรมนุษย์อย่างสอดรับกับบริบทโลกใหม่ ทำให้การจ้างงาน และรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายรับได้สูงขึ้น มีเสถียรภาพทางการคลังที่แข็งแกร่งมากขึ้น และเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในอนาคต