ประโยชน์ และการเตรียมตัวใช้ Taxonomy เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรคาร์บอนต่ำของธุรกิจไทย

ประโยชน์ และการเตรียมตัวใช้ Taxonomy เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรคาร์บอนต่ำของธุรกิจไทย

เพื่อเตรียมใช้ประโยชน์จาก Taxonomy ธุรกิจไทยอาจเริ่มศึกษากิจกรรมในร่าง Taxonomy เพื่อประเมินว่ากิจกรรมในแผนการดำเนินงานของบริษัท เข้าข่ายกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

เมื่อปลายปี 2565 ประเทศไทยออกร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Thailand Taxonomy เป็นฉบับแรก เพื่อกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

โดย Taxonomy ที่พัฒนาขึ้นในระยะแรกของไทย จัดเป็น Green Taxonomy กล่าวคือ ครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น โดยครอบคลุมวัตถุประสงค์เพื่อการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) ในกิจกรรมภาคพลังงานและภาคการขนส่งเป็น 2 ภาคส่วนแรก ซึ่งคาดการณ์ว่า Taxonomy ระยะที่ 1 จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการภายในไตรมาสที่สามของปีนี้ 

การจัดกลุ่มกิจกรรมสีเขียวที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จะช่วยให้ภาคธุรกิจไทยสามารถอ้างอิงกิจกรรมที่ระบุใน Taxonomy เพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมขององค์กร พัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่เน้นการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำผ่านการลงทุนในโครงการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การวิจัยและพัฒนา รวมถึงส่งเสริมภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยผลักดันเสริมสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจมีการปรับตัว โดยธุรกิจสามารถนำ Taxonomy มาปรับใช้ ดังนี้ 

1. การปรับเปลี่ยนกิจกรรมและการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับ Taxonomy

เมื่อภาคธุรกิจเริ่มมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมภายในองค์กรเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน Taxonomy จะเป็นคู่มือสำคัญในการคัดเลือกกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเลือกลงทุนในกิจกรรมสีเขียว เช่น ธุรกิจหลายแห่งจัดทำแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร โดยการเปลี่ยนแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนมาใช้ 

ด้านสถาบันการเงินเป็นภาคส่วนหลักที่จะนำ Taxonomy มาใช้อ้างอิงในการปรับพอร์ตการลงทุน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น กำหนดนโยบายการออกสินเชื่อสีเขียวโดยจัดประเภทกิจกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตาม Taxonomy ซึ่งมูลค่าเครื่องมือทางการเงินสีเขียวกำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก คาดการณ์ว่าการออกตราสารหนี้ยั่งยืนทั่วโลกในปีนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 880 พันล้านยูโรหรือเพิ่มขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีแรงจูงใจจากอัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ และดึงดูดนักลงทุนเฉพาะกลุ่มที่เน้นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับ Taxonomy จะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนเหล่านี้ได้มากขึ้น 

2. การระบุสัดส่วนของกิจกรรมและ ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงาน ที่สอดคล้องกับ Taxonomy

ธุรกิจอาจกำหนดแนวทางเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ โดยกำหนดเป้าหมายและดัชนี้ชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPIs) ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดการรายงานของ Taxonomy ซึ่งมีตัวอย่างจากประสบการณ์ของสหภาพยุโรปที่มีข้อกำหนดการรายงานที่ส่งผลให้บริษัทนำไปออกแบบ KPIs เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน ดังนี้

    1. บริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงิน (Non-financial companies) ในสหภาพยุโรป ต้องรายงาน 3 KPIs ที่สอดคล้องกับ Taxonomy ได้แก่ (1) สัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OpEx) (2) ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CapEx) และ (3) รายได้ (Turnover) ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสีเขียวตามคำจำกัดความของ Taxonomy ซึ่งนักลงทุนหรือภาคการเงินสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบการพิจารณาในการลงทุน ให้สินเชื่อ และประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความตื่นตัวในการกำหนด KPI ของบริษัท เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกิจกรรมสีเขียว

           2. บริษัทธุรกิจการเงิน (Financial companies) ในสหภาพยุโรป ต้องรายงานสัดส่วนของการลงทุนสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับ taxonomy เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมทั้งหมด (Green Asset Ratio - GAR) จูงใจให้สถาบันการเงินทำแผนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกิจกรรมที่สอดคล้องกับ taxonomy มากขึ้นเพื่อเพิ่ม GAR เช่น ธนาคารแห่งหนึ่งในยุโรปตั้งเป้าหมายว่า 75% ของพอร์ตสินเชื่อจะลงทุนในพลังงานหมุนเวียนภายในปี พ.ศ. 2573 เป้าหมายและกลยุทธของสถาบันการเงินในลักษณะนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการระดมเงินทุน เพื่อให้ภาคธุรกิจอื่นเร่งเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

3. การเปิดเผยข้อมูลให้สอดคล้องกับ Taxonomy

การเก็บข้อมูลและรายงานกิจกรรมที่สอดคล้องกับ Taxonomy ให้มีข้อมูลในระดับธุรกิจ ภาคเศรษฐกิจ และระดับประเทศเพื่อประเมินสัดส่วนกิจกรรมสีเขียว ส่งผลให้สามารถวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การรายงานโดยอ้างอิงกิจกรรมตาม Taxonomy ยังเพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของข้อมูลการดำเนินกิจกรรมสีเขียวของธุรกิจ ให้นักลงทุนมั่นใจว่ากิจกรรมนั้นไม่ผ่านการฟอกเขียว (Green Washing) ทั้งยังเป็นข้อมูลให้บริษัทกำหนดแผนการดำเนินกิจกรรมสีเขียว เพื่อบริหารความเสี่ยงและโอกาสให้เท่าทันคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน

เพื่อเตรียมใช้ประโยชน์จาก Taxonomy ธุรกิจไทยอาจเริ่มศึกษากิจกรรมในร่าง Taxonomy เพื่อประเมินว่ากิจกรรมในแผนการดำเนินงานของบริษัท เข้าข่ายกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (กิจกรรมสีเขียว) หรือเป็นเพียงกิจกรรมที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในช่วงเปลี่ยนผ่าน (กิจกรรมสีเหลือง) เพื่อประเมินความคุ้มทุนในการลงทุน ลดและป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับ Taxonomy โดยศึกษาควบคู่ไปกับแนวโน้มการลงทุนและการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาแรงจูงใจการลงทุนในกิจกรรมสีเขียวที่จะมีมากขึ้นในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจสามารถบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อความยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างทันท่วงที

 

หมายเหตุ บทความข้างต้น เขียนขึ้นโดย บดินทร์ วงศ์วิทยาภิรมณ์ Senior Manager และปารณีย์ สมจิตร Analyst Sustainability & Climate COE ดีลอยท์ ประเทศไทย 

 

แหล่งอ้างอิง

ก.ล.ต. (2023). Taxonomy กับการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน

Credit Agricole (2023). The Sustainable bond market 2022 review and outlook for 2023.