กูรูชี้ ‘เงินเฟ้อ’ พ.ค.ต่ำคาด แต่ยังเชื่อ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 0.25%

กูรูชี้ ‘เงินเฟ้อ’ พ.ค.ต่ำคาด แต่ยังเชื่อ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 0.25%

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้แม้เงินเฟ้อ พ.ค. ต่ำสุดรอบ 21 เดือน “อมรเทพ” คาดดอกเบี้ยยังไม่เปลี่ยนทิศ ส่อง กนง.ขึ้นดอกเบี้ยต่อ 0.25%ปีนี้ “พิพัฒน์” จับทิศทาง กนง. คาดขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกครั้งมาจบที่ 2.25% ปีนี้ เชื่อ กนง.อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ เปิดตัวเลข ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยหรือเงินเฟ้อเดือนพ.ค.2566 เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 106.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นเพียง 0.53%  ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน 

ขณะที่ เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสด และพลังงานออก สูงขึ้น1.55% ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนเม.ย. 2566 ที่สูงขึ้น 1.66

 

อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ออกมาพ.ค. ถือว่า ปรับตัวลดลงมากกว่าประมาณการที่คาดการณ์ไว้

 

โดยเดือนต่อเดือน เงินเฟ้อติดลบที่ 0.71%  หลักๆ จากราคาพลังงาน ราคาสินค้า ราคาอาหารที่ปรับตัวลดลง

 

ดังนั้นเงินเฟ้อที่ลดลงมาเร็ว ก็ต้องติดตามว่า จะมีผลทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)เปลี่ยนมุมมองในการดำเนินนโยบายการเงิน และการมองเงินเฟ้ออย่างไรต่อไป จากเดิมที่ กนง.มีความเป็นห่วงเงินเฟ้อ จากการคาดการณ์ว่า จะเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่สูงขึ้น รวมถึง เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจะมีผลทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 

 

ทั้งนี้ แม้ “เงินเฟ้อ” ที่ออกมาคลายความกังวลลง แต่ข้างหน้าสถานการณ์ ยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก โดยเฉพาะ กว่าจะถึงรอบการประชุม กนง. ในช่วงเดือนส.ค. ซึ่งใช้ระยะเวลาอีก 3 เดือน ที่อาจมีสถานการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังนั้น ยังต้องติดตามการดำเนินนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป
     

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ยังไม่จบรอบ 'ขึ้นดอกเบี้ย' แต่อาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยถูกทิ้งระยะ อาจไม่ได้มีการขึ้นต่อเนื่อง  อาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรอดูสถานการณ์ และกลับมาขึ้นดอกเบี้ยได้ เหมือนการดำเนินนโยบายการเงินในต่างประเทศ    
     

     “ภาพวันนี้ สะท้อนให้เราเห็นว่า  Demand pull inflation หรือเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ ไม่ได้ร้อนแรงอย่างที่คิด ดังนั้นเรายังคงไม่ปรับมุมมอง และยังเชื่อว่า กนง.ยังขึ้นได้อยู่ แต่อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยติดกัน เพราะแรงกดดันเงินเฟ้ออาจไม่ใช่ตัวหลัก หลังจากนี้ ธปท.อาจดูน้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น และสุญญากาศจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เป็นหลักได้"

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เงินเฟ้อที่ออกมา ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก สะท้อนว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ มีน้อยลงกว่าที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากฐานสูงจากปีก่อน ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลงเร็ว และหากดูเดือนต่อเดือน พบว่า เงินเฟ้อไม่ขยับขึ้น หรือขึ้นต่ำมากเพียง 0.1%ต่อเดือน

 

ดังนั้นหากเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง เชื่อว่า ท้ายที่สุดอาจส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงไปอยู่ระดับต่ำเพียงระดับ 1% ต้นๆ ได้ 

 

อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง แต่บนความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย เชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.อาจต้องการเก็บกระสุน หรือต้องการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่เชื่อว่า จะขึ้นได้อีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% ไปสู่ 2.25%ในปีนี้ 
     

     “จากการแถลง กนง.ล่าสุด เชื่อว่า กนง.อยากขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จนถึงรอบประชุม ส.ค. และหากเงินเฟ้อลงมาเรื่อยๆ ตรงนี้อาจต้องมาชั่งน้ำหนักว่า การขึ้นดอกเบี้ยยังจำเป็นอยู่หรือไม่ แต่ท่าที กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังดี การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการยังคงมีอยู่ ดังนั้นเรายังมองว่าโอกาสที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่แค่ 1 ครั้งในปีนี้ เพราะสิ่งที่ ธปท.อยากเห็นก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์