บาทผันผวน .. ทบทวนทางเลือกของการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน

บาทผันผวน .. ทบทวนทางเลือกของการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน

ความผันผวนของค่าเงินบาทในปี 2023 ดูเหมือนว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตามหากเทียบกับในอดีตก็ยังดูเหมือนว่าบาทเองยังคงมีความเปราะบางในหลากหลายปัจจัย ส่งผลให้หากมองในแง่ของความผันผวนในปีนี้ก็ยังคงเป็นลำดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศในเอเชีย

แม้การเปลี่ยนแปลงอาจจะดูไม่มาก หากนับตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาท (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 2 มิ.ย. 66) จะอ่อนค่าลงเพียง 0.52% น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น หยวนจีน (-2.6%) ริงกิตมาเลเซีย (-4.3%) วอนเกาหลีใต้ (-4.5%) แต่ระหว่างทางก็มีความผันผวนจากหลากหลายปัจจัยทั้งบวกและลบ อ่อนค่าและแข็งค่ารวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐาน

โดยปีนี้บาทแข็งค่าสุดที่ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงต้นเดือน พ.ค. เทียบกับระดับปัจจุบันที่ 34.56 บาทต่อดอลลาร์  อ่อนค่าลงประมาณ 1 บาท หรือราวๆ 3% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็ยังคงนับว่าสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนยังคงต้องพิจารณาประเด็นและบริหารจัดการความเสี่ยงในด้านนี้ให้ดี

ประเด็นสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังหนีไม่พ้นเรื่องของ 1. ทิศทางดอกเบี้ยของเฟดและแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของเงินดอลลาร์  โดยรวม หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงท่าทีคงดอกเบี้ยนานกว่า หรือปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมากไปกว่ามุมมองของตลาดในปัจจุบัน ก็จะทำให้ดอลลาร์  กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง ซึ่งขนาดของการเปลี่ยนแปลงก็จะขึ้นอยู่กับทิศทางและขนาดของการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ย

2. สถานการณ์ค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจจีน ซึ่งจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งในเรื่องของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว หากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าคาดก็อาจจะทำให้มีแรงสนับสนุนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะปรับตัวดีขึ้น และ 3. ปัจจัยการเมืองของไทยเอง หากความไม่แน่นอนยังคงยืดเยื้อก็อาจจะทำให้มีแรงขายสินทรัพย์ทั้งหุ้นและบอนด์จากนักลงทุนต่างประเทศต่อเนื่องกดดันค่าเงินบาทได้ ซึ่งทั้งสามปัจจัยน่าจะยังคงมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง

เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ประกอบการ มีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการบริการกระแสเงินสด เช่น การคงรายรับรายจ่ายให้อยู่ในสกุลเงินเดียวกัน การบริหารจังหวะเวลาของรายรับและรายจ่ายให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด หรือการเปิดบัญชิเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อบริหารกระแสเงินสด ซึ่งแบงค์ชาติก็ผ่อนคลายในเรื่องนี้เรื่อยมา หรือหากผู้ประกอบการคุ้นเคยกับตลาดเงินและตราสารอนุพันธ์ก็อาจจะใช้ สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FX Forward) หรือ ออปชั่น (FX Options) สำหรับการประกันค่าเงิน ซึ่งทั้งสองแบบจะมีจุดดีและจุดด้อยที่แตกต่างกันในเรื่องของความยืนหยุ่นในการได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น วงเงินที่มีกับธนาคาร จังหวะเวลาของรายรับรายจ่ายของผู้ประกอบการ หรือต้นทุนของการทำธุรกรรม

สำหรับการลงทุน ในส่วนของกองทุนในประเทศไทย กองทุนจะมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 4 ชนิด ได้แก่ ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (Fully Hedged) ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเลย (Unhedged) ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน (Partial Hedged) และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน (Dynamic Hedged) ในขณะที่การลงทุนโดยตรงอาจจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

โดยไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ประกอบการหรือนักลงทุน ปัจจุบันการพิจารณาทางเลือกของการป้องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จำเป็นจะต้องพิจารณาโอกาสในการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเทียบกับต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนประกอบกันไป (ณ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ สูงกว่าของไทย ทำให้มีต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอันเกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก) เช่น ในปัจจุบันต้นทุนของการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนใน 3 เดือนข้างหน้าจากตลาด Forward อยู่ที่ประมาณ 1% และหากจะป้องกันความเสี่ยงทั้งปีอาจคิดเป็นต้นทุนประมาณ 3-4% ขึ้นอยู่กับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในช่วงอายุนั้นๆ

การเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของเงินบาทในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานับเป็นหลักฐานชั้นดีที่ทำให้เราที่ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ประกอบการหรือนักลงทุนเห็นถึงผลกระทบของความผันผวนของค่าเงินต่อการทำธุรกิจและการลงทุนได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงที่สูงขึ้นจะเป็นตัวผลักดันให้เราจำเป็นจะต้องพิจารณานโยบายและแนวทางการป้องกันความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เข้าใจปัจจัยผลักดันค่าเงินบาททั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งหวังว่าทุกคนจะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพและช่วยให้เรื่องของการทำธุรกิจรวมถึงการลงทุนให้ผลลัพท์อย่างที่ต้องการครับ ..

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด