หาหุ้นลงทุนหลบพายุเศรษฐกิจโลก-ไทย

หาหุ้นลงทุนหลบพายุเศรษฐกิจโลก-ไทย

ในเดือน พ.ค. เศรษฐกิจและการลงทุนโลกค่อนข้างผันผวน ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงมากขึ้น ขณะที่เหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกับการลงทุนส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงลบ

โดยในสหรัฐตัวเลขสำคัญอย่างยอดค้าปลีกสหรัฐ แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่หากมองการขยายตัวรายปีที่ขยายตัว 1.6% ยังเป็นทิศทางที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมและคำสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ชะลอลง 

นอกจากนั้น หากพิจารณาความเสี่ยงภาคการเงิน พบว่ามีแนวโน้มกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยรายงานการสำรวจความเห็นของเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) พบว่ามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารสหรัฐเข้มงวดใกล้เคียงระดับวิกฤติ 

ขณะที่รายงานเสถียรภาพการเงิน ระบุว่าสถานการณ์ Silent bank run ทำให้เกิดวิกฤตสภาพคล่องธนาคาร Regional bank ต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ธนาคารคุมเข้มมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อยากขึ้น เกิดความเสี่ยง Credit crunch และกระทบเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ด้านเงินเฟ้อผู้บริโภคสหรัฐเห็นสัญญาณชะลอลง อย่างไรก็ตาม ด้วยเงินเฟ้อที่แม้ลดลง แต่ก็ยังอยู่ระดับสูง ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินบางท่าน ยังคงระบุว่ายังเห็นเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงและพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ย (แม้ประธาน Fed จะส่งสัญญาณว่าจะไม่ขึ้นในระยะใกล้ก็ตาม ) ด้านตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือน เม.ย. ที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดมาก โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนสินทรัพย์ถาวรขยายตัวต่ำกว่าตลาดคาดทั้งสิ้น

เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าทางการจีนจะผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารกลาง (PBOC) ยังส่งสัญญาณว่าอาจไม่ลดดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ แต่อาจลดอัตราการกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) แทน

ซึ่ง InnovestX มองว่า เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะฟื้นตัวต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด สอดคล้องกับตัวเลขนำเข้าและเงินเฟ้อที่ยังหดตัวต่อเนื่อง รวมถึงเงินฝากที่ยังขยายตัวสูงกว่าสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าในระยะต่อไป ชาวจีนจะเริ่มหันกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง ทำให้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในระดับ 5.3-5.7%

ด้านเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมนี เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงมากขึ้นเช่นกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสถาบัน ZEW ของเยอรมนีในเดือน พ.ค. หดตัวรุนแรงที่ 10.7 จากที่เคยขยายตัว 4.1 ในเดือน เม.ย. ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเยอรมนี หดตัว -3.4% เทียบกับเดือนก่อน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ชะลอเช่นกัน 

ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจเยอรมนีน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไม่ช้า ในไตรมาสแรกสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ดูจะเป็นความหวังได้แก่เศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศได้ ทำให้การใช้จ่ายในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเกินคาดและเป็นส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 1.3% ในไตรมาส 1ปี 2022 

นอกจากนั้นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และค่าเงินเยนที่อ่อน ทำให้บริษัทญี่ปุ่นมีผลประกอบการที่ดีขึ้น จึงเพิ่มการลงทุนขึ้น ภาพดังกล่าว ทำให้ดัชนีหุ้น Nikkei 225 ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 33 ปีในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 18% จนถึงปีผลจากเงินเยนที่อ่อนค่าและการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น และผลจากการซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่มีชื่อเสียงอย่าง Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์

นอกจากนั้น ยังเป็นผลจากมุมมองของนักลงทุนที่ว่า หุ้นญี่ปุ่นดูราคาถูก โดยนักลงทุนมองว่า ตลาดญี่ปุ่นถูกมองข้ามไปนานแล้ว ซึ่งเรามองว่า ในระยะต่อไป หากนโยบายรัฐบาลญี่ปุ่นยังสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินไม่รีบตึงตัวเกินไป จะทำให้หุ้นญี่ปุ่นยังคงน่าสนใจต่อเนื่อง

ข้ามมาในประเด็นสำคัญอย่างการเจรจาประเด็นเพดานหนี้สาธารณะ สัญญาณล่าสุดไม่สดใสนัก โดยในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา การเจรจาเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะที่ดูเหมือนว่ากำลังดำเนินไปได้ถูกพักชั่วคราว ซึ่งเรามองว่า การเจรจาประเด็นเพดานหนี้กำลังอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก เนื่องจากยังไม่เห็นข้อสรุปในประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายเห็นต่างกัน เช่น ระยะเวลาและวงเงินในการปรับลดงบประมาณ สิทธิประโยชน์ของผู้ได้รับสวัสดิการสังคม และงบประมาณส่วนใดที่ควรต้องตัดทอน (เช่น งบกลาโหมหรืองบสวัสดิการสังคม)

นอกจากนั้น เป็นไปได้ที่นายโดนัลด์ ทรัมพ์ อดีตประธานาธิบดี อาจเข้ามามีอิทธิพลในการเจรจา ทำให้ประเด็นนี้จะยังคงเป็นความเสี่ยง โดยหากไม่สามารถเจรจาได้ทันภายในวันที่ 1 มิ.ย. สหรัฐมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรเด้งขึ้นและค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นรวดเร็ว

ด้านไทยได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส1 ปี 2023 ขยายตัวต่อเนื่อง 2.7% ต่อปี สูงกว่าตลาดคาดที่ 2.3% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจ โดยหดตัว 6.2% ต่อปี ตามการชะลอลงของเศรษฐกิจและการค้าโลก

มองไปข้างหน้า เรามองว่ายังมีความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ (1) ความไม่แน่นอนในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะกระทบการจัดทำงบประมาณที่อาจล่าช้าไปถึง 1-2 ไตรมาส (2) เสถียรภาพทางการเงินโลกโดยเฉพาะสหรัฐที่กำลังมีประเด็นเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ภาครัฐและสถานะทางการเงินของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กที่อาจกระทบเศรษฐกิจและการลงทุนไทย และ (3) ปัญหาภัยแล้งในครึ่งปีหลัง 

ด้วยความเสี่ยงเศรษฐกิจและการลงทุนไทยที่มากขึ้น นักกลยุทธ์ของ InnovestX จึงแนะนำการลงทุนในหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก โดยอาจเลือก

 1.หุ้นเชิงรับที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสูง โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่ม เช่น Coke และ Pepsi

2.หุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI โดยเน้นการเติบโตในระยะยาว และอุปสงค์อยู่ในระดับสูง เช่น Microsoft, TSMC, NVDA

3.หุ้นจีนที่มีโอกาสฟื้นตัวและการประเมินมูลค่าหุ้นไม่แพง ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศ รวมถึงจากนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน เช่น Yum China, Sands China, Trip.com, CATL, Longi, Sungrow

 4.หุ้นยุโรป ที่ใช้พักเงินจากตลาดสหรัฐโดยเน้นหุ้นที่เติบโตดี ผันผวนน้อย และงบดุลแข็งแรง เช่น ASML, Roche, Nestle, LVHM, SAP และ 

5.หุ้นญี่ปุ่น ที่มีขนาดใหญ่ อัตราการทำกำไรจากการดำเนินงานมากกว่าอุตสาหกรรมและมีรายได้เติบโตดี ขณะที่มีหนี้ต่ำ เช่น Fast Retailing

ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดี

รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX

เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน

โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/bangkokbizstrategy

ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher

#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ

 

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้