เส้นตายเพดานหนี้สาธารณะกับผลกระทบต่อตลาดการเงิน

เส้นตายเพดานหนี้สาธารณะกับผลกระทบต่อตลาดการเงิน

นับว่าใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กับเส้นตายของการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “X-Date”

ซึ่งนาง Janet Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เคยออกมาเตือนว่ารัฐบาลอาจจะใช้เงินสดที่มีอยู่สำหรับดำเนินมาตรการพิเศษต่างๆ (Extraordinary Measures) หมดลงภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2566 นี้ (อย่างไรก็ตาม วันที่งบประมาณสหรัฐฯ จะหมดลงจริงๆ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยหากผ่านพ้นช่วยต้นเดือน มิ.ย. ไปได้ก็อาจจะยืดไปได้ถึงกลางเดือน ก.ค. จากการเก็บภาษีที่จะเข้ามาช่วงกลางเดือน มิ.ย.)

แล้วปัจจุบันตลาดการเงินคาดการประเด็นนี้อย่างไรบ้าง อาจจะต้องสะท้อนจากราคาของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้น (U.S. Treasury Bill) หรือ ตั๋วเงินคลัง โดย ณ วันที่ 22 พ.ค. 66 ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 เดือนอยู่ที่ 5.31% เทียบกับอายุ 2 เดือนและ 3 เดือนที่ 5.10% และ 5.11% ตามลำดับ ซึ่งส่วนเพิ่มสะท้อนความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในระยะสั้น ส่งผลให้เกิดแรงเทขายและผลตอบแทนพันธบัตร (Yield) ปรับตัวสูงขึ้นตามที่เห็น 

ดังนั้นอาจจะพอสรุปได้ว่า ในมุมของตลาดการเงินที่สะท้อนความน่าจะเป็นในระยะสั้นๆ นั้น ก็อาจจะพอกล่าวได้ว่า เราอาจจะมีความเสี่ยงต่อความผันผวนในระยะสั้น และโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ในระยะสั้นนั้นมีอยู่ แต่คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้ในระยะยาว (Protracted Default) ของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นมีน้อย หรือกล่าวคือสุดท้ายแล้วยังน่าจะตกลงกันได้และเพดานหนี้สาธารณะน่าจะถูกปรับเพิ่มขึ้นนั้นเอง แต่จะเมื่อไรและจะออกมาในรูปแบบใดอาจจะยังไม่มีใครแน่ใจ ทำให้ความผันผวนเกิดขึ้น ซึ่งกรณีนี้น่าจะเป็น Base Case Scenario ของนักลงทุนหลายๆ คนในปัจจุบัน

ในส่วนของผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากการเผยแพร่ของ The White House นั้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยตรงโดยแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่  1.กรณีที่ตกลงกันได้ก่อนเส้นตาย อาจจะทำให้มีการตกงานเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2566 ชะลอตัวลง 0.3% และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.1%  

 

ในขณะที่ในอีก 2 และ 3 เดือนข้างหน้าผลตอบแทนกลับเข้าสู่ภาวะปกติใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนคาดว่าตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงถัดไป และผลตอบแทนกลับมาขึ้นลงตามปัจจัยและโอกาสของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ตามปรกติอีกครั้ง ซึ่งการปรับตัวสูงขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุๆ สั้นจนสูงกว่ารุ่นอายุถัดๆไปนั้นพบเจอได้ไม่บ่อย และสะท้อนความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ได้อย่างตรงตัว

2.กรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในระยะสั้น และในกรณีนี้รัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะโดนปรับอันดับความน่าเชื่อถือเป็น Restricted Default (RD) จนกว่าจะหาข้อสรุปได้ อาจจะทำให้มีการตกงานเพิ่มขึ้น 500,000 ตำแหน่ง เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2566 ชะลอตัวลง 0.6% และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.3% และในกรณีสุดท้าย 

3.การผิดนัดชำระหนี้ยาวนาน อาจจะทำให้มีการตกงานเพิ่มขึ้น 8,300,000 ตำแหน่ง เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2566 ชะลอตัวลง 6.1% และเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทันทีในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 5.0% ซึ่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาล จะนำมาซึ่งผลกระทบต่อภาคเอกชนโดยตรงทั้งในการของการบริโภคและการลงทุน

 ในขณะที่การชะลอตัวของทั้งสองส่วนจะปราศจาการช่วยเหลือจากนโยบายการคลัง แตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น จาก Subprime หรือ COVID-19 โดยในกรณีที่ 3 นี้นั้นแม้โอกาสจะเกิดขึ้นไม่มาก แต่หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบรุนแรง ซึ่งนับเป็น Tail-risk ที่ไม่อาจมองข้ามได้ นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่าไม่ว่าจะทางออกในกรณีในผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจนั้นมีแน่ แต่จะแตกต่างกันในแง่ของความรุนแรง ซึ่งนับเป็นปัจจัยความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของผลกระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการประมาณการของ UBS คาดว่าหุ้นสหรัฐ นำโดยดัชนี S&P500 น่าจะปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบปีในช่วงไตรมาส 3 โดยจากระดับปัจจุบันที่ 4,200 จุด อาจจะปรับลดลงไปต่ำสุดในช่วง 3,200 ถึง 3,600 จุด หรือคิดเป็นราวๆ 15-24% จากระดับปัจจุบันขึ้นอยู่กับทางออกของปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ

 ในขณะที่ทองคำอาจจะเป็นผู้ชนะในช่วงนี้จากความกังวลของการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลที่กุมเศรษฐกิจโลกไว้ โดยทองคำอาจจะปรับจากระดับปัจจุบันที่ 1,980 ดอลลาร์ต่อทรอยเอานซ์ มาเป็น 2,100 ถึง 2,250 ดอลลาร์ ต่อทรอยเอานซ์ เมื่อสิ้นปี 2566 ขึ้นอยู่กับทางออกของปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ

สุดท้ายนี้ในช่วงสั้นนักลงทุนคงต้องติดตามการขอขยายเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ ท่าทีของพรรครีพับลิกัน และเงื่อนไขของการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของทั้งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และรวมถึงตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลกในช่วงสั้นและอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของการลงทุน การจัดสรรพอร์ตฟอลิโอในช่วงที่เหลือของปีด้วยนั่นเองครับ

ที่มา: whitehouse.gov/cea/written-materials/2023/05/03/debt-ceiling-scenarios/

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด