เปิดความคิดเห็น 7 กูรูดัง มองสหรัฐเข้าสู่ ‘Recession’ หรือไม่

เปิดความคิดเห็น 7 กูรูดัง มองสหรัฐเข้าสู่ ‘Recession’ หรือไม่

ส่อง 7 ความคิดเห็นกูรูดัง ในประเด็นสหรัฐจะเข้าสู่รีเซสชั่นหรือไม่ และเศรษฐกิจจะลงจดแบบ ‘ซอฟต์ แลนดิ้ง’ หรือ ‘ฮาร์ด แลนดิ้ง’

หลังจากข้อมูลทางการสหรัฐ เผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกเติบโตช้า จากนั้นนักวิเคราะห์จากวอลล์ สตรีท จำนวนหนึ่งต่างออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มย่อตัวลงต่ำมากขึ้นอีก 

โดย เหล่านักวิเคราะห์ และนักลงทุนมีชื่ออย่าง สแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์ (Stanley Druckenmiller) นักลงทุนชื่อดังชาวสหรัฐ ไมค์ วิลสัน (Mike Wilson) นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) รวมทั้ง เดวิด โรเซนเบิร์ก (David Rosenberg) ต่างออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในอนาคตอันใกล้ 

ขณะที่ พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล ประเมินว่า ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะลงจอดแบบ “ซอฟต์ แลนดิ้ง”

ทั้งนี้ ข้อมูลด้านล่าง คือ มุมมองเกี่ยวกับรีเซสชั่นจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ และนักลงทุนชื่อดังทั้ง 7 ท่าน

เอ็ด ไฮแมน (Ed Hyman) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เอเวอร์คอร์ (Evercore) บริษัทเพื่อการลงทุนสัญชาติอเมริกัน 

 “เศรษฐกิจตอนนี้แข็งแกร่ง และน่าตื่นเต้นอย่างมาก แต่ผมมองว่าภายในหน้าร้อนที่จะถึงนี้ เราจะเริ่มเห็นสัญญาณของรีเซสชั่น”

 “ที่ผ่านมา ผมไม่เคยคาดการณ์รีเซสชั่นล่วงหน้านานขนาดนี้มาก่อน”

เดวิด โรเซนเบิร์ก ประธานโรเซนเบิร์ก รีเสิร์ช (Rosenberg Research) บริษัทวิจัยด้านเศรษฐกิจ จากอเมริกา

“ตอนนี้ รีเซสชั่น เป็นเหมือนแก๊สที่ไม่มีกลิ่น และไม่มีสี แต่คุณก็สามารถรู้สึกหรือสัมผัสถึงมันได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่รีเซสชั่นจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า”

ทั้งนี้ โรเซนเบิร์ก ระบุผ่านจดหมายเมื่อไม่นานมานี้ว่า ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รีเซสชั่นมักเกิดประมาณ 5 เดือนหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ในรอบการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด ดังนั้น ขณะที่ ในรอบปัจจุบัน เฟดเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมี.ค.2565 นั่นบ่งชี้ว่ารีเซสชั่นจะเริ่มขึ้นในไตรมาสนี้”

สแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์ ซีอีโอของ ดูเคนส์ แฟมมิลี่ ออฟฟิศ (Duquesne Family Office)

เศรษฐกิจสหรัฐจะลงจอดแบบ “ฮาร์ด แลนดิ้ง” และจะเข้าสู่รีเซสชั่นเร็วๆ นี้ รวมทั้ง เศรษฐกิจจะเริ่มเข้าสู่ขาลงอย่างร้อนแรงในไตรมาสนี้ 

“ผมไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจในช่วงนี้จะรุนแรงกว่าตอนช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2551 แต่ผมว่ามันค่อนข้างไร้เดียงสาไปหน่อย หากไม่ยอมรับเลยว่าตอนนี้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะแย่ลง”

ไมค์ วิลสัน  นักกลยุทธ์ลำดับต้นจากมอร์แกน สแตนลีย์ 

“เราเชื่อว่าตลาดหุ้นยังคงคาดหวังว่า อยากให้ทั้งเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย และให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างคงที่ แต่อีกฉากทัศน์หนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ เฟดจะยังดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดท่ามกลางรีเซสชั่น ซึ่งจะเป็นผลลบต่อตลาดหุ้น ”

เอ็ด ยาร์เดนี (Ed Yardeni) ผู้ทำงานคร่ำหวอดในตลาดหุ้น และหัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนจาก ยาร์ดานิ รีเสิร์ช (Yardeni Research)

“เราตั้งข้อสังเกตว่าการทำ QT ของเฟดจะไม่ทำให้เกิดทั้งเศรษฐกิจถดถอย และเอิร์นนิ่ง รีเซสชั่น แทบไม่ต้องสนใจทั้งสองเหตุการณ์นั้นเลย เพราะท่ามกลางฉากทัศน์เรื่องรีเซสชั่นที่กำลังหมุนไป การเติบโตของรายได้อาจอ่อนแอ แต่เรายังมองว่ามันจะออกมาในแง่บวก”

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล

สัญญาณของสภาวะในตลาดแรงงานที่ร้อนแรงน้อยลง โดยที่อัตราการว่างงานยังไม่เพิ่มขึ้น นับว่าเป็นข่าวดีสําหรับเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่า การชะลอตัวลงเล็กน้อย (Mild) ​ของเศรษฐกิจ ยังคงมีความเป็นไปได้

"ข่าวดีก็คือ จนถึงตอนนี้ดูเหมือนว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐปรับตัวร้อนแรงน้อยลงอย่างมีนัยสําคัญ โดยที่อัตราการว่างงานไม่เพิ่มขึ้น ผมมองว่าความน่าจะเป็นในการเกิด ซอฟต์แลนดิ้ง มีเยอะมาก”

เรย์ แฟรริส (Ray Farris) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเครดิต สวิส (Credit Suisse)

“แม้ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะสูง แต่ก็ไม่ใช่ฉากทัศน์ที่เครดิต สวิสคิดว่าจะเกิดขึ้นเป็นลำดับแรก แต่เราก็เห็นด้วย และยอมรับกับคำกล่าวของนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านว่ามีโอกาสเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทว่าครั้งนี้มีความแตกต่างในหลายละเอียดจากรีเซสชั่นรอบอื่น โดย เรายังมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะลงจอดแบบซอฟต์ แลนดิ้ง"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์