Sea บริษัทแม่ Shopee พ้นวิกฤติ พลิกโชว์กำไร จ่อขึ้นเงินเดือนพนักงาน 5%

Sea บริษัทแม่ Shopee พ้นวิกฤติ พลิกโชว์กำไร จ่อขึ้นเงินเดือนพนักงาน 5%

“ฟอเรสต์ ลี” ผู้ก่อตั้ง Sea Ltd บริษัทแม่ของ Shopee ประกาศขึ้นค่าแรง 5% ให้พนักงานส่วนใหญ่ หลังพลิกทำกำไรพร้อมชี้อยู่ในจุดที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว แม้ก่อนหน้าเผชิญวิกฤติจนต้องลดจำนวนพนักงาน - งดจ่ายเงินเดือน

Key Points

  • Sea Ltd บริษัทแม่ของ Shopee ประกาศขึ้นค่าแรง 5% ให้พนักงานส่วนใหญ่
  • “ฟอเรสต์ ลี” ระบุ บริษัท กลับมาอยู่ในจุดที่พึ่งพาตัวเองได้แล้ว
  • ช่วงที่ผ่านมา บริษัท ตัดงบประมาณด้านการขาย และการตลาดลงกว่า 700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 23,100 ล้านบาท) 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (8 พ.ค.) ว่า ฟอเรสต์ ลี (Forrest Li) มหาเศรษฐีชาวสิงคโปร์ ผู้ก่อตั้ง Sea Ltd. บริษัทแม่ของ Shopee ประกาศขึ้นค่าแรง 5% ให้พนักงานส่วนใหญ่ ตั้งแต่เดือนก.ค. ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณถึงนักลงทุนอย่างชัดเจนว่า บริษัทอีคอมเมิร์ซ และเกมของเขาสามารถพลิกกลับมาทำกำไร หลังจากที่ขาดทุนมาหลายปี

โดย ลี ระบุผ่านบันทึกถึงพนักงานวันนี้ว่า ลูกจ้างที่เข้ามาทำงานในบริษัทในช่วงหรือก่อน วันที่ 31 มี.ค. 2023 จะได้รับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น 

“ตอนนี้ Sea ดำเนินธุรกิจจนมาถึงจุดที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ (Self-sufficiency) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดุลเงินสดของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปี จากก่อนหน้าที่แทบจะเป็นลบทุกไตรมาส”

ส่วนบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงแบบทั่วถึงในครั้งนี้นับเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญจากในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทสร้างความตกใจให้นักลงทุน ด้วยการประกาศ “งดจ่ายเงินเดือนพนักงาน” และ “การปลดพนักงานครั้งใหญ่”

Sea บริษัทแม่ Shopee พ้นวิกฤติ พลิกโชว์กำไร จ่อขึ้นเงินเดือนพนักงาน 5%

โดย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของ Sea อาจบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวในภาคเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปลดพนักงาน และมูลค่าบริษัทลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากในปี 2022 การใช้จ่ายออนไลน์ในยุคโควิดที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง 

ทั้งนี้ Sea เป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งจาก Tencent Holdings Ltd. ของแจ็ค หม่า มหาเศรษฐีชาวจีน 

ที่ผ่านมา Sea รายงานกำไรรายไตรมาสสุทธิเป็นครั้งแรก ในเดือนมี.ค. ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อปีที่แล้วบริษัทใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อโน้มน้าวนักลงทุนถึงความสามารถในการทำกำไร การปลดพนักงานหลายพันคน การถอนตัวจากตลาดหลัก และการตัดงบประมาณด้านการขายและการตลาดกว่า 700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 23,100 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ในจดหมายถึงพนักงานฉบับดังกล่าว ซึ่งส่งให้พนักงานประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่บริษัทจะรายงานผลประกอบการครั้งต่อไป ลี กล่าวถึงการต่อสู้อันเจ็บปวดที่ Sea ประสบระหว่างความพยายามในการพลิกฟื้นบริษัท ว่า

“ในปี 2020 Sea อยู่ในจุดที่มีผลประกอบการดีที่สุดในโลก โดยได้แรงหนุนจากความหวังที่บริษัทจะรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และความบันเทิงที่กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน แต่จากนั้น บริษัทก็สูญเสียมูลค่าตลาดไปประมาณ 1.6 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.28 ล้านล้านบาท) จากจุดสูงสุดในเดือนต.ค. 2021 จากแนวโน้มหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลกที่ปรับตัวแย่ลง 

“ปีที่ผ่านมานี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของเรา” ลี กล่าว พร้อมอธิบายถึงการตัดสินใจที่ “เจ็บปวด” ในการปลดพนักงาน ที่ฝ่ายบริหารต้องทำเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เลวร้ายลงในขณะนั้น

โดยหากอ้างอิงตามรายงานประจำปีที่แล้ว Sea ปลดพนักงานประมาณ 3,500 คน รวมทั้งในเดือนก.ย.ปีเดียวกันทีมผู้บริหาร กล่าวว่า จะไม่รับเงินเดือน และเข้มงวดกับนโยบายค่าใช้จ่ายของบริษัทจนกว่าบริษัทจะกลับมาทำกำไรได้

ทั้งนี้ ลี กล่าวทิ้งท้ายในจดหมายว่า “สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจภายในขณะนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ด้วยตอนนี้ที่เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ดังนั้นเราจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยรากฐานที่แข็งแรงต่อไป”

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์