ลงทุนตราสารหนี้ยังไงดี ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ความเสี่ยงด้านภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น

 หนึ่งในทางเลือกพื้นฐานของการจัดพอร์ตที่ดี คือการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ (Fixed Income) ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนดีในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวและดอกเบี้ยปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตามนักลงทุนจำเป็นจะต้องเลือก กลุ่มการลงทุนของตราสารหนี้ให้ดี เนื่องจากภายใต้เงื่อนไขในปัจจุบัน ปัจจัยขับเคลื่อนราคาของตราสารหนี้ในอนาคตจะไม่ใช่เรื่องของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่จะมี Credit Spread หรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิต หรือการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

Credit Spread ที่คำนวณจากส่วนต่างระหว่าง Yield-to-Maturity (YTM) ของหุ้นกู้เอกชนในระดับต่างๆ เทียบกับพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุเท่ากัน เป็นตัวสะท้อนผลตอบแทนส่วนเพิ่มของการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน แต่ก็จะสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกด้วยนั่นเอง โดยหุ้นกู้ในกลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือแตกต่างกันก็จะมี Credit Spread ที่แตกต่างกันด้วยนั่นเอง 

นอกจากนี้ Credit Spread ยังสามารถปรับขึ้นลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของผู้ออกผู้ออก และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เช่นในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น ส่วนต่างของผลตอบแทนก็จะเพิ่มสูงขึ้นสะท้อนผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็สะท้อนความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง

โดยปกติการลงทุนในหุ้นกู้จะมี 2 ลักษณะได้แก่ การลงทุนโดยตรงกับการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งทั้ง 2 แบบนั้น แตกต่างกันอย่างในหลายๆด้าน โดยการลงทุนในหุ้นกู้โดยตรง เมื่อเวลาผ่านไปความเสี่ยงโดยรวมก็จะค่อยๆ ลดลงตามอายุของตราสารที่ลดลง แต่ราคาก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง แม้ส่วนใหญ่อาจจะถูกถือจนครบกำหนดก็ตาม (Hold-to-Maturity)

แต่การลงทุนผ่านกองทุนรวมส่วนใหญ่จะมีความเสี่ยง (เช่น ดูเรชั่น เครดิต) ใกล้เคียงเดิมที่สะท้อนจากดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ของกองทุน ตลอดเวลา อาจจะแตกต่างบ้าง ตามการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุน (Tactical Allocation) แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่แตกต่างจากดัชนีอ้างอิงมากจนเกินไป โดยการลงทุนผ่านกองทุนรวมก็จะมีข้อดีที่มีการกระจายความเสี่ยงได้มากกว่า ซึ่งทั้ง 2 แบบล้วนแล้วแต่เป็นที่นิยมในกลุ่มนักลงทุนขึ้นอยู่กับความต้องการของการลงทุน

เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง หรือผ่านพ้นวัฏจักรที่ขยายตัวได้อย่างร้อนแรง ในภาวะปกติก็อาจจะตามมาด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วย โดยเฉพาะการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและเพิ่มสภาพคล่อง นอกจากนี้เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง การคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ก็จะปรับลดลง ซึ่งทั้งแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต และการคาดการเงินเฟ้อทั้ง 2 ส่วนเปฺ็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยเฉพาะในกลุ่มที่อายุยาว 

ทำให้แม้ดอกเบี้ยนโยบายอาจจะทยอยปรับตัวลดลงอย่างช้าๆ แต่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากเรื่องของการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อก็จะทำให้ตราสารหนี้กลุ่มพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนสูงขึ้น จากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวสวนทางกับราคาพันธบัตร กล่าวคือหากดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลง ราคาของตราสารหนี้ก็จะปรับตัวสูงขึ้น) 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มมีความเสี่ยงขาลง และอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย เงินเฟ้อปรับตัวลดลง พันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น และจะเป็นการลงทุนทีี่ช่วยชดเชยความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession Hedge) ต่อพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้ดี

สำหรับตราสารหนี้ในกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มหุ้นกู้เอกชนในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade หรือ IG Bond) หุ้นกู้เอกชนในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-investment Grade / High Yield หรือ HY Bond) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market Bond) ทั้งสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency Bond) หรือสกุลเงินดอลลาร์ (USD-Denominated Bond) นั้นจำเป็นจะต้องพิจารณาในสองลักษณะ

ทั้งจากความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกเอง เช่น การพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือและแนวโน้มสถานะทางการเงินของผู้ออก (Outlook) และความเสี่ยงในภาพรวมที่เกิดจากปัจจัยมหภาคที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในเรื่องของระบบเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม เช่น ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความเสี่ยงโดยรวมก็จะเพิ่มสูงขึ้น แม้ปัจจัยพื้นฐานของผู้ออกจะยังคงเดิม ดังนั้นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ Credit Spreads ก็จะกว้างขึ้น ส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้ในกลุ่มนี้ลดลง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้พันธบัตรรัฐบาลดูจะเป็นการลงทุนที่ดีในภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มของตราสารหนี้จะเป็นการลงทุนที่ดีเสมอไป โดยที่เราต้องพิจารณาทั้งผลตอบที่คาดว่าจะได้รับสะท้อนจาก Yield-to-Maturity และทิศทางของเศรษฐกิจประกอบกัน การจะเน้นลงทุนในกลุ่มไหนเพิ่มน้ำหนักในกลุ่มไหนขึ้นอยู่กับมุมมองที่มี เช่น หากกลุ่มพันธบัตรรัฐบาลให้ 3.0% 

แต่หุ้นกู้กลุ่มระดับความน่าเชื่อถือ AA (Investment Grade) ให้ 4.5% และกลุ่ม BB (High Yield) ให้ 7.0% การจะเพิ่มน้ำหนักในกลุ่มไหนขึ้นอยู่กับมุมมองทางเศรษฐกิจที่มี เช่น หากคาดว่าจะหดตัวรุนแรงก็อาจเน้นลงทุนในกลุ่มพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก หรือ หากเศรษฐกิจน่าจะชะลอตัวน้อยกว่าคาด การเพิ่มน้ำหนักในกลุ่ม IG ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเนื่องจากดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นคุ้มค่ากับความเสี่ยงตามมุมมองที่มี ..