"หุ้นญี่ปุ่น” โอกาสลงทุนที่มาพร้อมกับความเสี่ยง

"หุ้นญี่ปุ่น” โอกาสลงทุนที่มาพร้อมกับความเสี่ยง

รายงานข่าวต่างประเทศระบุว่า “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีระดับโลก และตัวพ่อแห่งการลงทุนสาย VI เพิ่มการลงทุนหุ้นของ 5 บริษัทญี่ปุ่น

หลังจากเดือนส.ค.ปีที่ผ่านมา Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้งของวอร์เรน ได้เข้าลงทุนหุ้น บริษัทเทรดดิ้ง (ธุรกิจซื้อมาขายไป) ชั้นนำ 5 อันดับแรกของญี่ปุ่น ได้แก่ อิโตชู (Itochu), มิตซูบิชิ (Mitsubishi Corp.), มิตซุย (Mitsui & Co.), ซูมิโตโม (Sumitomo Corp.) และมารูเบนิ (Marubeni) ในสัดส่วนบริษัทละกว่า 5% และต่อมาในเดือนพ.ย. ยังได้เพิ่มสัดส่วนลงทุนหุ้นทั้งหมดเป็นสัดส่วนมากกว่า6%

เมื่อตัวพ่อการลงทุนสายVI ย่องไปเก็บหุ้นญี่ปุ่นตุนในพอร์ต เป็นการจุดชนวนให้ คนเริ่มหันมาโฟกัสตลาดหุ้นญี่ปุ่นกันมากขึ้น แต่คำถามยังมีอยู่ว่าในเวลานี้ “หุ้นญี่ปุ่น” น่าสนใจเป็นโอกาสการลงทุนที่ดีจริงหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่มีหุ้นญี่ปุ่นในพอร์ตลงทุนเลย

กุลฉัตร จันทวิมล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บลจ.ยูโอบี ยังคงมุมมองการลงทุนเป็น Neutral (คงน้ำหนักการลงทุน)ซึ่ง ราคาหุ้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจและเทรดในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว รวมถึงยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดประเทศ และการเบิกจ่ายงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในโครงการ Digitalization Transformation และ Clean Energy Economy

ทั้งนี้ยังมีความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายทางการเงินของ BOJ  โดยเราแนะนำ เลือกลงทุน “หุ้นญี่ปุ่นขนาดกลาง ขนาดเล็ก” ที่มีธุรกิจและมีแหล่งที่มาของรายได้ในประเทศเป็นหลัก เพราะได้รับผลกระทบน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีแหล่งที่มาของรายได้ทั่วโลกมีโอกาสได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้า ณ 18 เม.ย.2566 กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท เจแปน สมอล แอนด์ มิด แคป ฟันด์ (UOBSJSM) มีผลตอบแทน (YTD) อยู่ที่ 4.05%

วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์ บลจ.กสิกรไทย กล่าว่า บลจ.กสิกรไทย ยังมีมุมมองค่อนข้างลบ เนื่องจากจากอัตราเงินเฟ้อ เร่งตัวขึ้นสููงสุุดในรอบ 41 ปี ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมาย รวมถึงการเข้ารับตำแหน่งของผู้ว่าฯ BoJ คนใหม่ อาจทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่า และกดดันกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออก

รวมถึง Sentiment บวกจากการเปิดประเทศที่เริ่มลดลง คาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่จะเริ่มเติบโตน้อยลง จากภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอของประเทศคู่ค้า และตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวดีนัก

ดังนั้นแนะนำให้รอประเมินสถานการณ์ในระยะถัดไป ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยมีกองทุนหุ้นญี่ปุ่น และผู้ที่มีกองทุนหุ้นญี่ปุ่นอยู่ในพอร์ต 

ณ 18 เม.ย.2566 กองทุนเปิดเค ญี่ปุ่น หุ้นทุน ( K-JP) ผลตอบแทน (YTD ) อยู่ที่ 5.73% และ กองทุนเปิดเค ดัชนีหุ้นญี่ปุ่น (K-JPX) ผลตอบแทน YTD อยู่ที่ 6.75%

ศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า  เราแนะนำ “ซื้อ” ตามความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ทั้งนักลงทุนเดิมและใหม่ เพราะว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากต้นทุนทางการเงินที่อยู่ระดับต่ำ เมื่อเทียบกับสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้รับประโยชน์จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น และมีการผ่อนคลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงนค่าเงินเยนมีทิศทางอ่อนค่า หนุนการปรับขึ้นของตลาดหุ้นญี่ปุ่น หลังจากนายKazuo Uedaเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่ และยังมีความเป็นไปได้ในการขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (YCC)เพิ่มเติม และมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเริ่มเข้าสู่วัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 

ณ 18 เม.ย.2566 กองทุนเปิดกรุุงศรี เจแปนเฮดจ์ปันผล (KF-HJAPAND)  ผลตอบแทน (YTD ) อยู่ที่ 9.75% และกองทุนเปิดกรุงศรีเจแปนสมอลแคปอิควิตี้ปันผล (KF-JPSCAPD) ผลตอบแทน (YTD)  อยู่ที่ 5.71% และ กองทุนเปิดกรุงศรีเจแปนอิควิตี้อินเด็กซ์เฮดจ์เอฟเอ็กซ์ (KF-JPINDX) ผลตอบแทน (YTD) อยู่ที่9.69%