ใช้ข้อมูลเท็จเผยแพร่ในงบการเงิน | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ใช้ข้อมูลเท็จเผยแพร่ในงบการเงิน | สกล หาญสุทธิวารินทร์

บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตจาก สำนักงาน ก.ล.ต.ให้สามารถออกและขายหลักทรัพย์ และได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์เข้าเป็นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่เรียกว่า บริษัทจดทะเบียน ต้องจัดทำงบการเงินรายไตรมาส ที่ผู้สอบบัญชีสอบทานแล้ว

และงบการเงินประจำงวดที่ผู้สอบบัญชี ตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว ส่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเผยแพร่ในตลาดหลักทรัพย์ ให้ประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทราบสภาพการดำเนินกิจการ และฐานะทางการเงินของบริษัท

เพื่อประกอบการพิจารณาของประชาชนที่จะซื้อหุ้นของบริษัท หรือทำธุรกรรมกับบริษัท ดังนั้น ความถูกต้องของงบการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญ

กฎหมายหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์จึงกำหนดให้มีบทบัญญัติลงโทษผู้จัดทำงบการเงินด้วยข้อมูลเท็จ โดยกำหนดโทษจำคุกและปรับ ในอัตราสูง

มีคดีใช้ข้อมูลเท็จ ในการจัดทำงบการเงินที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ที่น่าสนใจคือ คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2562

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 343 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 878,169.19 บาท แก่ผู้เสียหาย


 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306, 312 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 343 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 8 ปี ส่วนจำเลยที 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 343

การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กรรมการผู้จัดการนิติบุคคล ให้กระทำความผิดตามมาตรา 306, 312 (2) (3) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 8 ปี กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 878,169.19 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก 
 จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ 
 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้แก่จำเลยทั้งสี่คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 ปี

ใช้ข้อมูลเท็จเผยแพร่ในงบการเงิน | สกล หาญสุทธิวารินทร์

นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 
 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา 
 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุบริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต.ให้เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 2 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการเงินและบัญชี จำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน บริษัทเดอะเบสท์ คอนโดมิเนียม จำกัด

บริษัทเดอะเบสท์ คอนโดมิเนียม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมโดยก่อนหน้านั้นมีนางธนานันท์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และนางธนานันท์ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทซิลเวอร์ เฮอริเทจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรรที่เมืองพัทยาด้วย

เดิมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีคำสั่งห้ามซื้อขายหุ้นของบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) เนื่องจากอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ จนกระทั่ง ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

ต่อมาบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ได้รับจ้างเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง กับบริษัทเดอะเบสท์ คอนโดมิเนียม จำกัด ได้ค่าตอบแทนเป็นค่าศึกษาโครงการ 3,000,000 บาท ค่าควบคุมงาน 3,720,000 บาท รวม 6,720,000 บาทและสัญญากับบริษัทซิลเวอร์ เฮอริเทจ จำกัด ได้ค่าตอบแทนการศึกษาโครงการ 6,880,000 บาท ค่าควบคุมและปรับปรุงการออกแบบ 12,900,000 บาท รวม 19,780,000 บาท

สัญญาทั้งสองฉบับ มีนางธนานันท์ และจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของทั้งสองบริษัทลงลายชื่อเป็นคู่สัญญา ตกลงให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2547

สำหรับบริษัทเดอะเบสท์ คอนโดมิเนียม จำกัด นั้น นางธนานันท์ได้ทำสัญญาขายกิจการของบริษัทให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทแทนนางธนานันท์ ต่อมาบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแก่บริษัทเดอะเบสท์ คอนโดมิเนียม จำกัด และบริษัทซิลเวอร์ เฮอริเทจ จำกัด

บริษัททั้งสองโดยจำเลยที่ 4 และนางธนานันท์ได้สั่งจ่ายเช็คชำระเงินค่าจ้างค่าบริการแก่บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2548 บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) มีหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ

เพื่อขออนุมัติย้ายสถานะของบริษัทออกจากหมวดบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ กลับสู่หมวดปกติที่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ได้

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเรื่องให้ก.ล.ต.เพื่อตรวจสอบงบการเงินของบริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำงบการเงินประจำปี 2547สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2547 โดยจำเลยที่ 1 และนายประณัย ลงลายมือชื่อรัรอง บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยที่ 1 ได้ส่งข้อมูลสรุปสถานะการประกอบธุรกิจของบริษัทเข้าสู่เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ งบการเงินดังกล่าวได้รับรู้รายได้ของบริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) คือ ค่าบริการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามสัญญาที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างทั้งสองสัญญารวมเป็นเงิน 9,880,000 บาท ซึ่งปรากฏอยู่ในรายการงบกำไรขาดทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีคำสั่งให้บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบกรณีพิเศษ และได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายได้จากสัญญาที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างทั้งสองสัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก

ต่อมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ย้ายการซื้อขายหลักทรัพย์จากหมวด REHABCO ไปยังกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป

ต่อมานางสาวณัฐนันท์ ผู้เสียหายได้ซื้อขายหุ้นของบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง จนเหลือหุ้นอยู่ 140,000 หุ้น มูลค่า 878,169.19 บาท แล้วตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีคำสั่งห้ามซื้อขายหุ้นของบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน)

สำหรับคดีของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา แต่หลบหนีโดยไม่ได้แสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 หรือไม่

เห็นว่า การกระทำความผิดข้อหาดังกล่าวมีองค์ประกอบที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล โดยทุจริต หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน

โดยนำข้อมูลเท็จไปเผยแพร่ในงบการเงินประจำปี 2547 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป แล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนเข้ามาดูข้อมูลเท็จในงบการเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่างบการเงินเป็นความจริง จึงตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท

เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวเพียงคนเดียว พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.