‘สมประวิณ’ มองเศรษฐกิจไทยโตแกร่ง ส่อเห็น ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ พุ่งแตะ 2.5%

‘สมประวิณ’ มองเศรษฐกิจไทยโตแกร่ง  ส่อเห็น ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ พุ่งแตะ 2.5%

“สมประวิณ” คาดการณ์ “ดอกเบี้ยไทย” มีโอกาสปรับขึ้นต่อ คาดจุดสูงสุดอยู่ที่ 2.5% มีโอกาสดอกเบี้ยไทยขึ้นต่อเนื่องปีนี้อีก 3 ครั้งที่ 0.75% หากเศรษฐกิจไทยดีเกินคาด จีดีพีจ่อโตเกิน 4%ปีนี้ เชื่อระยะสั้น นโยบายแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ระยะยาวน่าห่วง ภาระภาครัฐพุ่ง

   Key points

  • สมประวิณ อีไอซี ชี้ “ดอกเบี้ย”สำคัญทุกมิติ ตัวเร่งวิกฤติการเงินโลก จับตา วิกฤติแบงก์ล้มยังไม่จบ อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในแบงก์ท้องถิ่นสหรัฐเพิ่ม จากการแสวงหาผลตอบแทนสูง 
  • สถาบันการเงินไทยโชคดี มีบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ส่งผลแบงก์อยู่ในโหมดระมัดระวัง สำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
  • มอง “ดอกเบี้ยขาขึ้น”ของไทยยังไม่จบ เชื่อมีโอกาสเห็นดอกเบี้ยปรับขึ้นสูงสุดไปแตะระดับ 2.5% หรือเพิ่มขึ้นอีก 0.75% หากเศรษฐกิจปีนี้ดีกว่าคาดไว้
  •  เตรียมปรับมุมมอง “จีดีพีไทย”เพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์ หลังท่องเที่ยวที่ออกมาดีกว่าคาดการณ์ไว้ จากท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศหนุน อานิสงส์จีนเปิดเมือง
  •  มอง นโยบาย แจกเงิน หากทำได้ จริง มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้โตแรง แต่ห่วงระยะยาว หนี้สาธารณะเพิ่ม เป็นภาระภาครัฐเพิ่ม 

      “อัตราดอกเบี้ย” ถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก สำหรับทุกภาคเศรษฐกิจ เพราะดอกเบี้ยจะเป็นตัวกำหนด “ต้นทุน” ของเราทุกคน ไม่ว่าจะฝากเงิน กู้เงิน ก็ล้วนผูกโยงกับดอกเบี้ยทั้งสิ้น

      ในมุม “นักเศรษฐศาสตร์” ความสำคัญของ “ดอกเบี้ย” มีมากกว่านั้น โดยมองว่า ดอกเบี้ยคือต้นทุนเวลาซึ่งสำคัญมาก สำหรับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เพราะดอกเบี้ยทำให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลได้ หากบริหารจัดการไม่ดี เช่นที่เห็นมาแล้ว จากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ อังกฤษ ที่เป็นผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง

       ในทางกลับกัน “ดอกเบี้ย” ก็มีส่วน สำคัญ ที่จะช่วย “พยุงเศรษฐกิจ” ในช่วงคับขัน หรือเกิดวิกฤติจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้ประชาชน ธุรกิจ อยู่ประคองตัวเองได้ท่ามกลางความยากลำบาก
 

‘สมประวิณ’ มองเศรษฐกิจไทยโตแกร่ง  ส่อเห็น ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ พุ่งแตะ 2.5%    “ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ" รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในงาน Wealth OF Wisdom : WOW#2 ที่จัดขึ้นโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

       ภายใต้หัวข้อ “ Interest Rate : the Real Indicator Of Financial Markets ว่า ดอกเบี้ยในมุมนักเศรษฐศาสตร์ คือ “ต้นทุน” แต่ในมุมแบงก์​ ดอกเบี้ย คือตัวที่สะท้อนความเสี่ยง เพราะดอกเบี้ยสูง นั่นอาจจะหมายความว่า โอกาสที่จะเกิดการเบี้ยวหนี้สูงก็ต้องตามมาด้วย

       ดังนั้น หากพูดถึงความสำคัญดอกเบี้ย ถือว่าสำคัญมาก ในทุกมิติ หรืออีกด้าน “ดอกเบี้ย”ก็อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤติตามมาได้เช่นกัน เช่นเดียวกับ วิกฤติสถาบันการเงิน ในสหรัฐ อังกฤษ ที่เกิดจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยเร็ว

       แม้จะหยุดเลือดที่ไหล จากการเข้าไปอุ้มของธนาคารกลางสหรัฐ แต่สิ่งที่คนคาดเดายาก คือ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นตรงอื่นๆหรือไม่ เหมือน ฟ้าฝ่า ที่ไม่สามรถรู้ได้ว่าจะลงที่ไหน และก็ไม่ได้โดนทุกคน

       แต่ที่ต้องจับตาต่อไป ที่อาจมีความเสี่ยงถัดมาคือ แบงก์ท้องถิ่นในสหรัฐ จะเกิดวิกฤติตามมาหรือไม่ จากผลของการออกไปแสวงหาผลตอบแทนสูง ในช่วงที่ผ่านมา

      ‘สมประวิณ’ มองเศรษฐกิจไทยโตแกร่ง  ส่อเห็น ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ พุ่งแตะ 2.5%   ในมุมของ “สถาบันการเงินไทย” ถือว่าโชคดี ที่ประเทศไทยมีบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้แบงก์ อยู่ในโหมดของการระมัดระวังมากขึ้น ภายใต้การตั้งสำรองหนี้สูญอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน หนี้กองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของไทย ถือว่าอยู่ระดับสูงมากที่ระดับ 17% เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

        กลับมาดู “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ของไทย มองว่า ยังคงเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย EIC อยู่ระหว่างการปรับประมาณการณ์ อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย รวมถึงภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ในช่วงพ.ค. ปีนี้

         โดยดอกเบี้ยหลักๆ คาดว่า มีโอกาส ที่จะเห็น “ดอกเบี้ยนโยบาย” ขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 2.5% ซึ่งหากสถานการณ์ยังทรงตัวแบบปัจจุบัน คาดว่ามีโอกาสที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีก 1 ครั้ง สู่ระดับ 2.0% แต่จะไปขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าถึง 2 ครั้ง โดยรวมแล้ว คาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะไปหยุดที่ 2.50%

       แต่ในมุมกลับกัน หากเศรษฐกิจไทยออกมาดีเกินคาด ที่ประเมินไว้ ดอกเบี้ยไทย ก็มีโอกาส เห็นการปรับขึ้นทันทีในปีนี้ที่ 2.5% คือขึ้นต่อเนื่องอีก 3ครั้งในปีนี้ได้

       “เราเชื่อว่า ดอกเบี้ยไทย มีโอกาสขึ้นไปได้ต่อเนื่อง จนถึงระดับสูงสุดที่ 2.50% คือ ขึ้นหนึ่งครั้งปีนี้ ไปที่ 2.0% หรือ ขึ้นต่อเนื่องในปีนี้อีก 3ครั้ง รวมทั้งหมด 0.75% หากเศรษฐกิจไตรมาส 2 ออกมาดีขึ้นต่อเนื่อง เราก็เชื่อว่า ดอกเบี้ยมีโอกาสขึ้นต่อได้มากกว่า 1 ครั้งทันที ไม่ต้องรอถึงปีหน้าด้วยซ้ำ”ดร.สมประวิณกล่าว

      ปัจจัยบวกที่มองว่า “ดอกเบี้ยไทย”มีโอกาสขึ้นไปสูงถึง 2.5% หลักๆมากจาก เศรษฐกิจไทย ที่อาจดีกว่าที่คาดไว้ โดยมาจากภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่อาจออกมาดีเกินคาดไว้มาก จากนักท่องเที่ยว ที่มีโอกาสไปถึงระดับ 30ล้านคน จากไตรมาสแรก ที่ท่องเที่ยวออกมาถือว่าดีเกินคาด เดิมคาดนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาเพียง 3แสนคน แต่มาถึง 5 แสนคน

   ดังนั้นมีหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจที่จะได้รับอานิสงค์นี้ ทั้งภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการผลิตต่างๆ

       นอกจากนี้ หากนโยบายที่พรรคการเมือง หาเสียงสามารถนำมาเป็นนโยบายของรัฐบาลหน้า เพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง ในปีนี้ โดยการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะเป็นตัวสำคัญที่จะบูทเศรษฐกิจไทย ให้ไปเกินระดับ 4%ได้ เกินเป้าหมาย ที่ EIC ประเมินไว้ที่ 3.9% 

       แต่ไม่ได้บอกว่า เห็นด้วย หรือสนับสนุน นโยบายแจกเงิน เพราะสิ่งที่ต้องระวังของไทย คือหนี้สาธารณะที่อาจเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง อาจไปแตะระดับ 66% ได้จากปัจจุบัน ที่60% จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

       แน่นอนคนที่ได้เงินหากได้มาแล้วใช้เงิน อาจเพิ่มการบริโภคให้กับประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจเกิดการหมุนจริงๆ แต่สิ่งเหล่านี้ ใช้แล้วหมดไป แต่ทางกลับกัน รัฐบาลมีภาระหนี้ขึ้นทันที ดังนั้นต้องเป็นจุดที่ต้องระมัดระวัง 

       ทั้งนี้ หากหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะเกิดวิกฤติอีกรอบก็มีโอกาสเป็นไปได้ ภายใต้หนี้ครัวเรือนของไทย ที่อยู่ระดับสูงเกิน 80% สูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา และสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ  ดังนั้นแม้การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะดี แต่ระยะยาว “น่าห่วง” เพราะประเทศไทยไม่ได้เก่งปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่เก่งด้านการกระตุ้น การใช้เงิน

       “ถามว่านโยบายการแจกเงินเหล่านี้ ผิดหรือไม่ ก็ไม่ผิด และตอบยาก เพราะตอบโจทย์คนที่ต้องการ แต่เชิงวิชาการ ถามว่าควรทำหรือไม่ ก็ไม่ควร เพราะนักวิชาการ มองยาวกว่านั้น และควรอดทนไปข้างหน้า  ไปดูโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ช่วยผลักดันประเทศระยะยาว มากกว่า นโยบายระยะสั้นๆ

       นอกจากนี้  สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย แม้ EIC มองว่าจะมาจากเศรษฐกิจโลก จากภาคการส่งออก แต่ EIC ไม่ได้มองภาพแย่ขนาดนั้น เพราะภายใต้ส่งออกที่ชะลอ ยังมีบางเซกเตอร์ที่ยังสามารถขับเคลื่อนต่อได้ ดังนั้นคงการส่งออกไว้ที่ระดับเดิมก่อนที่ 1.2%

      “หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าวันนี้ ภาพจะดีขึ้นเรื่อยๆ และตลาดยังไม่ได้ Price In กับภาพบวกของเศรษฐกิจเหล่านี้ ดังนั้นภาพเศรษฐกิจไทยอาจออกมาบวกกว่าที่คาด เราจึงเตรียมปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่ในพ.ค. นี้ และมีโอกาสที่จะเห็นจีดีพีไทยไปเกิน 4%ได้ ”