‘สันติธาร’วิเคราะห์ นโยบาย ‘แจก1หมื่น’50ล้านคน แนะช่วยคนตัวเล็ก

‘สันติธาร’วิเคราะห์ นโยบาย ‘แจก1หมื่น’50ล้านคน แนะช่วยคนตัวเล็ก

“สันติธาร” วิเคราะห์ แจก1หมื่นทั่วประเทศ 50ล้านคน ชี้ข้อดี คือ อาจจะช่วยกระตุ้นให้คนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร้านค้าเข้าระบบมากขึ้น แต่ควรหานโยบายช่วยคนเข้าไม่ถึงดิจิทัล เตือนไตร่ตรองใช่จังหวะใช้ยาแรงหรือไม่ ชี้ควรเป็นช่วงที่ใช้กระสุนการคลังที่มีอย่างระมัดระวัง

    เป็นกระแสค่อนข้างมาก หลัง พรรคเพื่อไทยประกาศ นโยบายพรรค 'แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท' ให้กับบุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งประเมินกันว่าจะมีราว 50 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินที่ต้องจ่ายออกไปราว 5 แสนล้านบาท

      ล่าสุด 'ดร.สันติธาร เสถียรไทย' อีกหนึ่งนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวที่มีต่อนโยบายแจกเงินดิจิทัลว่า "ในช่วงที่ผ่านมามีหลายคนได้ถามความเห็นในเชิงวิชาการที่ผมมีต่อ “นโยบายเงินดิจิทัล 1หมื่นบาท” ที่คนกำลังให้ความสนใจและเป็นประเด็นถกเถียงกันตอนนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นตามความเข้าใจของตนเองเผื่อจะเป็นประโยชน์นะครับ" 

 

 

 

     ขออนุญาตออกตัวว่าโพสต์นี้ไม่ได้จะบอกว่านโยบายนี้หรือนโยบายไหนดีไม่ดีแต่ชวนคิดถึงกรอบในวิเคราะห์ว่ามีคำถามอะไรบ้างที่เราควรถามเพื่อจะประเมินนโยบายนี้ (และนโยบายอื่นๆทำนองนี้) โดยเป็นความเห็นส่วนตัวจากการที่เป็นผู้สนใจด้านเศรษฐกิจการเงินและเทคโนโลยี ไม่ได้มีเจตนาทางการเมืองใดๆ กรุณาอย่าเอาไปใช้เพื่อเรื่องการเมืองนะครับ 

      สุดท้ายขอย้ำด้วยว่าข้อมูลที่ได้มาจากข่าวล้วนๆซึ่งยังมีรายละเอียดหลายประเด็นไม่ชัดเจน และไม่เคยได้คุยกับทีมคนคิดนโยบายเลย จึงอาจมีการตีความ เข้าใจผิดไปบ้างก็ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

   สิ่งที่พอจะทราบและตีความได้จากข่าว:

   -มีการประมาณว่าการแจกเงิน 1หมื่นบาทให้คนอายุ16ขึ้นไปจะใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท ให้ใช้ภายใน 6 เดือนทำหนเดียว

    -ให้เป็นเงินดิจิทัล ไม่ให้เงินสด และต้องการจำกัดวิธีการใช้เงินบางประเภทที่ไม่เหมาะสม เช่น การพนัน ยาเสพติดหนี้นอกระบบ

    -กำหนดระยะเวลาให้ใช้ภายใน 6 เดือน สะท้อนเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

   -จำกัดรัศมีการใช้งานตามบัตรประชาชน แต่ระยะทางแค่ไหนตัวเลขยังไม่นิ่ง ไอเดียคือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน หากอาศัยอยู่คนละที่กับที่อยู่ในทะเบียนบ้าน จำเป็นต้องกลับไปเยี่ยมบ้านเท่านั้น

    -ที่สำคัญนโยบายนี้ไม่ได้จะทำผ่านระบบดิจิทัลวอลเลทแบบ “เป๋าตังค์” หรือระบบการชำระเงินแบบพร้อมเพย์แบบที่เคยมี แต่จะเป็นการสร้าง “โครงสร้างพื้นฐาน” (ระบบการชำระเงิน) ใหม่เลยโดยจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน 

      -แต่รูปแบบยังฟังดูไม่ค่อยชัดเจน แค่พอเข้าใจว่าจะเป็น “เงินบาทดิจิทัล” ที่ออกโดยรัฐบาล(ไม่ได้ออกโดยภาคเอกชนแบบเหรียญคริปโต) จึงฟังดูคล้ายกับ Retail Central Bank Digital Currency - หรือ CBDC ที่ออกโดยธนาคารกลางในสกุลเงินบาท 

ตามพื้นฐานความเข้าใจนี้มีข้อสังเกต/ประเด็นที่ต้องคิดต่อตามนี้:

    1) “ยาแรง”ตอบโจทย์เศรษฐกิจตอนนี้ไหม? 

     จริงๆแล้วคำถามนี้เป็นสิ่งที่ทีมนโยบายเศรษฐกิจของทุกพรรคคงต้องพิจารณาให้ดีไม่ใช่แต่พรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะเกือบทุกเจ้าก็มีการเสนอนโยบายอัดฉีดเงินสู่ระบบกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆกันทั้งนั้น 

     แต่ประเทศไทยเพิ่งใช้มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจไปอย่างมหาศาลช่วงโควิดที่ทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก ~40% มาเป็นกว่า 60% ของจีดีพี ปัญหาอาจจะมาจากการฟื้นตัวที่กระจายไม่ทั่วถึงมากกว่าแค่ GDP โตไม่พอ

       ต้องไตร่ตรองดีว่ายังเป็นจังหวะที่ยังต้องใช้ “ยาแรง” กระตุ้นเศรษฐกิจหรือควรเป็นช่วงที่ใช้กระสุนการคลังที่มีน้อยลงอย่างระมัดระวังและทำ Targeting ให้ดีขึ้น (รั่วไหลน้อยลง เกาถูกที่คันของ“คนตัวเล็ก”มากขึ้น เช่น ครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจMSME ฯลฯ)

     นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านยังมองว่าปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางโครงสร้างที่ต้อง “ผ่าตัด” และ “บำบัดรักษา” มากกว่าใช้ยากระตุ้นระยะสั้น 

 2) เอาเงินจากไหน? 

     หากมองว่าเราจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น คงต้องดูต่อว่าจะเอาเงินมาจากไหน เท่าที่หาข้อมูลได้ดูเหมือนว่า 

     หนึ่ง จะมาจากเงินภาษีที่คาดการณ์ว่าจะเก็บได้มากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งคงต้องไปดูว่าในอดีตนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ช่วยจีดีพีส่งผลให้เก็บภาษีได้มากขึ้นเยอะจริงหรือไม่แค่ไหน

     สอง อาจมีการโยกเงินอื่นๆมาใช้ตรงนี้แทน ซึ่งแปลว่าต้นทุนคงไม่ถึง 5แสนล้านบาทอย่างที่ได้เห็นกันในข่าว และในทางทฤษฎีหากโครงการนี้สามารถใช้เทคโนโลยีคุมการรั่วไหลได้ดีกว่า ตรงเป้าและโปร่งใสกว่าโครงการเก่าๆก็ย่อมเป็นประโยชน์ แต่ก็ต้องมาดูกันที่รายละเอียดว่าจะทำได้เช่นนั้นไหม

    สาม อีกทางหนึ่งที่อาจมีคนคิดคือ การสร้างเงินดิจิทัลใหม่ขึ้นมาเลยจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็จะเหมือนให้ธปท “พิมพ์” เงินใหม่ขึ้นมาเลยแต่แทนที่จะพิมพ์เงินแล้วให้กระทรวงการคลัง/รัฐบาลเอาไปใช้ คราวนี้พิมพ์เป็นเงินดิจิทัลแล้วใส่ในมือคนโดยตรงให้เอาไปใช้เลย (บางครั้งเรียกกันว่า “เงินเฮลิคอปเตอร์” เพราะเหมือนโปรยเงินมาจากเฮลิคอปเตอร์) 

     แต่คาดว่าคงไม่ไปทางนี้เพราะเป็นแนวทางที่แหวกตำราพอควรและก่อให้เกิดความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและเรื่องวินัยทางการคลังในอนาคต (เรื่องนี้ยาวขอไม่ลงลึกตรงนี้)

   3) คนเข้าไม่ถึงดิจิทัลจะทำไง?มาตราการกระตุ้นทางเศรษฐกิจผ่านช่องทางดิจิทัลมีทำกันในหลายประเทศและหลายรูปแบบ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย 

     ข้อดี คือ อาจจะช่วยกระตุ้นให้คนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นและร้านค้าเข้าระบบมากขึ้น เพิ่มทักษะดิจิทัล ช่วยการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศได้ 

     ข้อเสียคือ แล้วคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการดิจิทัลล่ะ จะทำอย่างไร? โดยเฉพาะกลุ่ม “คนตัวเล็ก” (เช่น รายได้น้อย อยู่พื้นที่ห่างไกล ร้านค้าที่ยังไม่พร้อมรับเงินดิจิทัล ฯลฯ) ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดมักจะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการดิจิทัลน้อยกว่าคนอื่น

    ดังนั้นหากจะทำมาตราการนี้จริงอาจต้องมีนโยบาย/โครงการอื่นๆมาเสริมเพื่ออุดช่องว่างสำหรับคนที่ยังเข้าไม่ถึงดิจิทัลด้วย 

  4) ควรใช้เงินบาทดิจิทัลหรือไม่?

      ยอมรับว่าข้อมูลตรงนี้ยังไม่ค่อยชัดเท่าไรว่านโยบายนี้จะใช้ CBDC (เงินบาทดิจิทัลออกโดยธปท) หรือไม่ แต่หากคิดจะใช้ก็จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินใหม่ขึ้นมาเสมือน ‘ระบบถนนใหม่’ สำหรับการเงินที่แตกต่างจากที่มีในปัจจุบันอย่างพร้อมเพย์ 

       ในปัจจุบันแม้ระบบการชำระเงินดิจิทัลจะพัฒนาไปมากแต่พวกนอนแบงก์และบริษัทเทคโนโลยีต่างๆที่มีวอลเลทของตนเองยังไม่ได้เชื่อมกับระบบพร้อมเพย์ที่ส่วนใหญ่เป็นฝั่งธนาคารใช้อย่างเต็มที่ หากCBDCกลายมาเป็นระบบเพย์เมนต์กลางที่เชื่อมทุกเจ้าเข้ามาด้วยกันได้เสมือนเป็นถนนที่ต่อกันหมดและกำกับดูแลโดยธปทก็อาจจะเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นมาที่มีประโยชน์ (แต่ต้องระวังไม่ควรให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งคุมโครงสร้างพื้นฐานนี้)

      นอกจากนี้ CBDC ยังอาจมีข้อดีอื่นๆ เช่น สามารถเขียนโปรแกรมตั้งเงื่อนไขต่างๆในการใช้เงินประเภทนี้ได้เช่น ต้องใช้กับร้านค้าในชุมชนตัวเองเท่านั้น ให้ส่วนลดพิเศษหากซื้อขายจากธุรกิจ MSME ใช้ภายในเวลาจำกัด ฯลฯ  (แต่ต้องใช้เทคโนโลยีหลายอย่างประกอบกันไม่ใช่บล็อกเชนเท่านั้น)

     แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่ไอเดียกับความเป็นไปได้ต้องมาดูรายละเอียดกันดีๆ เพราะการดีไซน์ CBDC นั้นทำได้หลายรูปแบบและมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงหากไม่ระมัดระวัง

      ต้องเลือกฟีเจอร์ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศ เช่น จะเป็นแบบใช้บล็อกเชนหรือไม่ (เพราะจริงๆไม่ต้องใช้บล็อกเชนก็ได้), จะให้ใช้ในปริมาณจำกัดหรือโนลิมิตแทนเงินสดได้หมดเลย, เป็นแบบที่ทุกคนมีบัญชีเงินดิจิทัลของตนเองที่รัฐบาลสามารถตรวจสอบได้ว่าใครใช้เงินที่ไหนถ้าจำเป็น (คล้ายบัญชีธนาคารปัจจุบัน) หรือเป็นแบบที่ดูไม่ได้ว่าใครใช้อะไรไปที่ไหน (คล้ายเงินสด) ฯลฯ

       ส่วนตัวมองว่าหากเป็นตามที่เข้าใจ ไอเดียนี้น่าสนใจแต่ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่มีรายละเอียดเยอะจึงอาจต้องมีการทดลองและศึกษาให้ดีก่อนในรูปแบบจำกัด (เช่น Sandbox) ก่อนที่จะสเกลไปทั่วประเทศ ซึ่งเข้าใจว่าทางธปทก็มีการศึกษาทดลองมาเรื่อยอยู่แล้ว

  ทิ้งท้าย: 2 ร่างใน 1 นโยบาย

     สุดท้ายขอตั้งข้อสังเกตว่า นโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” สามารถวิเคราะห์ได้จากทั้งมุมเศรษฐกิจและมุมเทคโนโลยีเพราะมีอย่างน้อย 2 เป้าหมายใหญ่ หนึ่ง คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นช่วยเศรษฐกิจชุมชน และ สอง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเงินใหม่สำหรับอนาคตโดยใช้เงินบาทดิจิทัล 

     ความเห็นของคนที่แตกต่างกันส่วนหนึ่งสะท้อนว่ามองนโยบายนี้จากมุมไหน

     บางคนอาจเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแต่ไม่แน่ใจว่าการทำผ่านเงินบาทดิจิทัลหรือบล็อกเชนจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะเทคโนโลยียังไม่นิ่งและมีคนที่เข้าไม่ถึงดิจิทัล

 

      บางคนอาจเห็นด้วยกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่สำหรับอนาคตแต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เม็ดเงินจำนวนมากมากระตุ้นเศรษฐกิจและดันการใช้เงินดิจิทัลในตอนนี้

     และแน่นอนบางคนอาจเห็นด้วยทั้งสองอย่าง หรืออาจไม่เห็นด้วยเลยสักข้อ 

     แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นนโยบายไหนของใครก็ตาม การมีไอเดียนโยบายออกมาเปิดให้มีการถกเถียงกันเยอะๆเป็นสิ่งที่ดีเพื่อให้เกิดการตกผลึกและหวังว่าจะนำไปสู่เวอร์ชั่นสุดท้ายที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยที่สุดครับ