Cash is not as safe as you might think

ในบทความที่ผ่านๆ มาผู้อ่านจะพบว่ามุมมองของผู้เชี่ยวชาญของจูเลียส์ แบร์นั้นไม่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิดการถดถอย

ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การบริโภคในภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนนั้นยังมีความแข็งแรง แม้อัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่แล้วจากเหตุการณ์ในเดือนมี.ค.2566 ที่ผ่านมาถือว่าสร้างความเซอร์ไพร์สอย่างมากกับตลาดการเงิน

ซึ่งที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีการคาดการณ์หรือการส่งสัญญานมาก่อนว่าจะเกิดความเสี่ยงเชิงระบบจนกระทั่งเกิดการปิดตัวลงของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งในช่วงแรกนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่เฉพาะตัว เนื่องจากรูปแบบการทำธุรกิจที่เฉพาะตัวโดยเน้นให้บริการกับบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีและ Venture Capital ในซิลิคอนวัลเลย์

รวมไปถึงการบริหารในส่วนของสินทรัพย์ที่ผิดพลาดสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อผู้ฝากเงินต่อธนาคารอื่นๆ ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะธนาคารท้องถิ่นในสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้เติบโตอย่างมากโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2018 ที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ทำให้ธนาคารขนาดกลางและเล็กนั้นมีการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก

โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (Commercial Real Estate) ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้ช่องทางออนไลน์รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ว่างของออฟฟิศเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

    ความกังวลนั้นไม่เพียงแต่จำกัดแค่ในภาคการเงินของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ได้ลามไปต่อที่สถาบันการเงินในยุโรปโดยเฉพาะธนาคารที่มีสถานะทางการเงินที่อ่อนแออย่างเช่น Credit Suisse ทั้งนี้ตลาดเงินได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วจากเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นข้างต้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากการคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในช่วงข้างหน้า

      ขณะที่ส่วนต่างของ Credit Spread ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นนั้นกลับแข็งแรงกว่าที่คิด เนื่องจากนักลงทุน Rotation จากกลุ่ม Value โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารหันกลับไปเลือกลงทุนในกลุ่มหุ้นคุณภาพขนาดใหญ่ รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งตลอดปีที่ผ่านมานั้นได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร

    ขณะที่ทองคำก็ปรับตัวขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กล่าวโดยสรุปเมื่อดูจากการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ทางการเงินนั้นสะท้อนว่าจากปัญหาในภาคธนาคารอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบได้ ซึ่งจากข้อมูลในอดีตเราจะพบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงเชิงระบบที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อนจะสามารถทำให้เกิดการถดถอยในเศรษฐกิจได้อย่างง่ายดาย

    สิ่งที่น่ากังวลในครั้งนี้อย่างหนึ่งคือทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น นอกจากนี้การที่ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯและยุโรปยังมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยกดดันมากขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้เรามองว่าจากภาวะปัจจุบันนั้นควรที่จะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและติดตามปัญหาในภาคการเงินอย่างรอบด้านเนื่องจากภาวะทางการเงินที่ตึงตัวอย่างมากจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นชะลอตัวลง และยิ่งเมื่อเกิดปัญหาในภาคการเงิน การปล่อยกู้หรือการรีไฟแนนซ์จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นและรัดกุมมากขึ้นซึ่งปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีความเสี่ยงที่จะถดถอยเพิ่มมากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในเหตุการณ์ครั้งนี้คือการปิดตัวลงของ Credit Suisse สถาบันการเงินใหญ่อันดับสองของสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งถูกทางการให้ธนาคาร UBS เข้าทำการควบรวมซึ่งนับว่าเป็นดีลประวัติศาสตร์แต่เรื่องที่สร้างความประหลาดใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือการที่หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของสวิสเซอร์แลนด์ให้มีการ Write down หรือตีมูลค่าเป็นศูนย์ต่อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือมักจะรู้จักกันในนามว่า Contingent Convertible หรือ CoCo Bond

ซึ่งเรื่องนี้มีผลต่อนักลงทุนต่อมุมมองการลงทุนในตราสารประเภทนี้ ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนที่สามารถลงทุนในตราสารประเภทนี้ได้จะเป็นนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งมักจะทราบดีว่าตราสารประเภทนี้มีความเสี่ยงที่สูงกว่าตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เอกชนในระดับ investment grade โดยปกติเนื่องจากเป็นตราสารด้อยสิทธิ์ที่มีเงื่อนไขแฝงที่อาจจะถูกแปลงสภาพเป็นทุนหรือถูกตีเป็นศูนย์ได้ขึ้นกับเงื่อนไขที่ตั้งไว้ซึ่งจะเน้นที่อัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเช่น 5.15% ซึ่งค่าเฉลี่ยของธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรปปัจจุบันจะอยู่ที่ 12%-13% แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้นักลงทุนรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดก็ตามที่ทางการเข้ามาให้การช่วยเหลือเมื่อธนาคารไม่สามารถดำเนินการได้ (Point of Non-Viability) ทางการสามารถที่จะ Write Down ตราสารประเภทนี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทางการแต่ละแห่งเช่นธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษนั้นออกมาย้ำว่าจะไม่ใช้แนวทางเดียวกันกับที่เกิดขึ้น ซึ่งจากเรื่องนี้ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า 1.การกระจายความเสี่ยงยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ 2. ควรลงทุนตามความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้และบริหารความเสี่ยงอย่างถูกต้อง 3.เงินสดอาจจะไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด ไม่เพียงแต่เงินเฟ้อที่จะกัดกินผลตอบแทนตลอดเวลาแต่การเก็บเงินไว้ที่ใดก็มีความสำคัญมากเช่นกัน

 

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อเพื่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมและเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่าน

 

###########