ค่าเงินบาทเปิดตลาด’แข็งค่า’ที่ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ ดอลลาร์อ่อน-ทองรีบาวน์

ค่าเงินบาทเปิดตลาด’แข็งค่า’ที่ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ ดอลลาร์อ่อน-ทองรีบาวน์

กรุงไทย ชี้เงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ แต่เงินบาทยังแกว่งตัวจำกัด ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.00-34.35 บาทต่อดอลลา

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (31 มี.ค.) ที่ระดับ  34.13 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.25 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ34.00-34.35 บาทต่อดอลลาร์ 

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี ในช่วงวันนี้ ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงถูกจำกัดอยู่ ในลักษณะ Sideways

โดยในระหว่างวัน ค่าเงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้างจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้น หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจมาจาก 1) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึง 2) รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซนที่ชะลอลงชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดโอกาส ECB เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยแรง กดดันให้เงินยูโรอาจอ่อนค่าลงและหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ (ช่วงประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือ ไม่ได้ชะลอลงชัดเจน (เน้นจับตาการเปลี่ยนแปลงรายเดือน หรือ %m/m) ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยปรับมุมมองว่า เฟดอาจสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ และ/หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน

มุมมองดังกล่าวก็อาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้เช่นกันและการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง โดยในกรณีนี้ เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งก็สามารถช่วยหนุนให้ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าทดสอบแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปีซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Amazon +1.8%, Nvidia +1.5%) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 3.55% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย โดย GDP ไตรมาส 4 โต +2.6%q/q เทียบกับตลาดมอง +2.7%q/q ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 198,000 ราย สูงกว่าที่ตลาดคาด 196,000 ราย อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการย่อตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร(Wells Fargo -1.6%, BofA -1.3%) หลังคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เตรียมเสนอมาตรการกำกับดูแลภาคธนาคารสหรัฐฯ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อ +1.03% หลังผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ตามความกังวลปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรปที่คลี่คลายลง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (UBS +3.4%) ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ก็ปรับตัวขึ้นต่อได้(ASML +3.0%) หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของสเปน ในเดือนมีนาคม ชะลอตัวลงมากกว่าคาดสู่ระดับ 3.3% (จาก6.0% ในเดือนก่อนหน้า) ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปมากนัก หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น  

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.2 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด และส่วนหนึ่งก็มาจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ทั้งนี้ เรามองว่า หากรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ PCE ไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยลงหรือเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อตาม Dot Plot ล่าสุดส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่า ตลาดจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯและเงินดอลลาร์ สามารถช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1,996 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ PCE ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า โมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนกุมภาพันธ์ อาจชะลอลงสู่ระดับ +0.4%m/m ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าพลังงานและราคาสินค้าโดยรวมส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงสู่ระดับ 5.1% อย่างไรก็ดี หากตัดผลของราคาพลังงานและราคาอาหารโมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE จะอยู่ที่ +0.4%m/m ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ยังคงอยู่ที่ระดับ 4.7% สอดคล้องกับภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ในส่วนภาคการบริการที่ไม่รวมผลของที่อยู่อาศัย (Core Services Ex. Housing) ชะลอตัวลงช้า อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อ PCE และ Core PCE ไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้น กอปรกับ ภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อจากผลกระทบของปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคาร ก็จะช่วยลดความจำเป็นที่เฟดจะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนทะลุระดับ 5.25% แต่ทว่า เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25% จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมาย 2% อย่างชัดเจน ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นพร้อมกับการชะลอตัวลงมากขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยเฉพาะการจ้างงาน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หลังผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยและเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนกันยายน)

ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ชะลอลงสู่ระดับ 7.1% ตามคาด ในเดือนมีนาคม ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB อาจสามารถชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) โดยตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคบริการเดือนมีนาคม ที่ระดับ 50.5 จุด และ 54.3 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)