กูรูฟันธงกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย0.25%

กูรูฟันธงกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย0.25%

กูรูฟันธงกนง.เดินนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง โดยจะปรับขึ้น 0.25%ในการประชุมวันนี้และอีก 0.25%ในเดือนพ.ค.ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 2% ชี้ปัจจัยเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ตลาดเงินยังผันผวน เงินเฟ้ออาจปรับขึ้นจาก Demand Pull

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center(EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)ให้ความเห็นเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะมีการประชุมในวันนี้(29มี.ค.)เพื่อพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยว่า EIC ประเมินว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% 

เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น จากการที่ภาคการท่องเที่ยวกลับมาดีกว่าที่คาดและดีมานด์ของประเทศเริ่มฟื้นตัว ฉะนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะทำต่อเนื่อง เพื่อให้ระดับอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยมองว่า ในรอบการประชุมเดือนพ.ค.นี้ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยไปหยุดที่ 2%

“ถ้าเราไปดูอัตราดอกเบี้ยที่กนง.ปรับขึ้นมานั้น ถือว่า ไม่ได้เยอะ ซึ่งเรามองว่า ยังไปได้อีก ดังนั้น ผมไม่คิดว่า ธนาคารกลางจะคงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องสภาพคล่อง ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องคอยดูว่า ธนาคารกลางจะส่งสัญญาณเรื่องของเครื่องมือที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในการรับมือกับความผันผวนหรือปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ และเป็นประเด็น ถ้าให้ลดดอกเบี้ยแล้วไม่มีสภาพคล่องมันไม่ได้ช่วย เพราะแบงก์วันนี้ ต้องการสภาพคล่อง

ทั้งนี้ EIC ได้คำนวณว่า อัตราดอกเบี้ยที่ภาวะปกติจะอยู่ในระดับ 2.5% แต่ถามว่า วันนี้ เราคิดว่า จะขึ้นถึงหรือยัง ก็ตอบว่า ยัง เพราะคิดว่า มีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจขาขึ้น ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ ภาวะดอกเบี้ยก็จะไปอยู่ 2.5% แต่วันนี้ เรายังเห็นความผันผวนของตลาดการเงิน และ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับลงมาแล้ว ฉะนั้นจึงทำให้การขึ้นดอกเบี้ยไปได้ต่อ แต่จะไม่ถึงปลายทางที่ 2.5%

สำหรับปัจจัยเรื่องของเงินเฟ้อต่อการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อได้ปรับลดลงค่อนข้างเร็วกว่าที่คาด แต่คิดว่า ท้ายที่สุดจะลงมาแล้วทรงๆตัวได้ และคิดว่า ไม่ลงต่อ เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้น เราจะเห็น Demand Pull เพราะผู้ประกอบการมีต้นทุนที่แพงขึ้น ขณะเดียวกัน กำลังซื้อยังอ่อนแอ ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้มาก แต่วันนี้ ราคาน่าจะเริ่มปรับขึ้นได้ โดยภาพที่จะเห็น คือ ภาพที่เกิดขึ้นในอเมริกา คือ แม้อัตราเงินเฟ้อจะลดลงมา แต่ในอนาคต เงินเฟ้ออาจจะปรับขึ้นไปอีก โดยแม้ว่า ในฝั่งซัพพลาย หรือ ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมา แต่ส่วนที่จะปรับขึ้น คือ ภาคบริการ

“ตอนนี้ เป็นช่วงปลายไตรมาสหนึ่ง ถ้าลองไปจับจ่ายใช้สอยดู จะพบว่า ราคาสินค้าจะเริ่มปรับขึ้น เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา จะเพิ่ม Demand Pull ราคาจะเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง ราคาตั๋วเครื่องบิน ราคาโรงแรมที่ปรับเพิ่มขึ้นในขณะนี้ หลังจากนี้ ก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยดัชนีภาคบริการจะเข้ามาในช่วงที่ต้นทุนราคาพลังงานลดลง ทำให้เงินเฟ้อขึ้นต่อ แต่ไม่มาก”

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคการเงินของโลกถามว่า มีผลอย่างไร เขากล่าวว่า เราก็ติดตาม ไม่ได้วางใจส่วนโอกาสลุกลามมีแค่ไหน คิดว่า โอกาสขึ้นจะเกิดปัญหาจะเป็นจุด ๆ หมายความว่า แบงก์โน้นนี้จะมีปัญหาเป็นจุดๆ ขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารความเสี่ยงของการทำธุรกิจในแต่ละแบงก์ แต่จะลุกลามทั้งระบบหรือไม่ภาคการเงิน คิดว่า มีโอกาสน้อย และความเชื่อมโยงมาที่เศรษฐกิจไทย ก็ถือว่า ยังน้อยเช่นกัน

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่า เปรียบเสมือนเราอยู่คนละห้อง ซึ่งภาคการเงินเราไม่ได้ทำธุรกรรมกับเขามาก ที่สำคัญ ภูมิของคนแต่ละห้องก็ไม่เท่ากัน และภูมิของคนไทยก็เข้มแข็งกว่าเขามาก มีการบริหารสภาพคล่องที่กระจายตัวมากกว่า ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นที่เรา แต่ว่า ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นเยอะจนทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ก็อาจจะเป็นช่องทางที่จะส่งผ่านมาที่เรา ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ ซึ่งในอนาคต ณ วันนั้น เราก็คงหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว”

TTBมองนโยบายดอกเบี้ยมาถูกทาง

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าวิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด(มหาชน)(TTB)กล่าวคาดว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ และ ปรับขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมครั้งหน้าในเดือนพ.ค.นี้ เพราะโมเมนตั้มเศรษฐกิจไทยค่อยๆฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบเดือนพ.ค.แล้ว ก็น่าจะหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน เพราะมองว่า ผลของการส่งออกที่ชะลอตัวน่าจะเห็นในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ TTBมองว่า การส่งออกของไทยจะขยายตัวติดลบที่ 0.5% ส่วนจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้3.4%

เขามองว่า การดำเนินนโยบายเรื่องปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ที่ทยอยปรับขึ้นล่าช้ากว่าประเทศอื่น ถือว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมแล้ว เพราะโมเมนตั้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจาก ตัวเลขหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้ากว่าประเทศอื่น

ทั้งนี้ เรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะเป็นประเด็นที่กนง.จับตา เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ แต่ผลของเงินไหลออกที่มีไม่มาก เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล เพราะท่องเที่ยวยังดี หากว่าเครื่องยนต์ส่งออกดับ ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจเป็นความเสี่ยง เพราะท่องเที่ยวอาจจะไม่ทัดทานการส่งออกที่ลดลงไม่ไหว

CIMBมองดอกเบี้ย1.75%เหมาะสม

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMB)กล่าวประเมินว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 1.5% เป็น1.75% และมองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ครั้งนี้ จะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้าย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยแข็งแกร่งเหมือนการประชุมครั้งก่อนหน้า โดยรอบที่แล้วแบงก์ชาติมีปัจจัยพิจารณาอยู่สองเรื่อง คือ เงินเฟ้อกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเราคิดว่า แรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะบรรเทาลง หลังเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวได้เด่น การผลักภาระต้นทุนผู้บริโภค หลังจากผู้ประกอบการต้นทุนสูงขึ้นในปีที่แล้วซึ่งแรงนี้ก็เริ่มแผ่วลง เพราะภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นเด่นขนาดนั้น และภาคการส่งออกก็ยังดูไม่ค่อยดีการท่องเที่ยวเองก็ไม่ได้กระจายตัวมากนัก จึงมองภาพความเสี่ยงเศรษฐกิจมีค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น มองว่า น่าจะลงเร็วกว่าที่คาด โดยเฉพาะที่คิดว่า จะเฉลี่ยที่ 3% ก็อาจจะไม่ถึง และอาจเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อด้านบนของแบงก์ชาติที่ 1.3% ได้ภายในไตรมาสสอง ฉะนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะมีข้อจำกัด โดยอาจจะขึ้นแค่รอบนี้ก่อน และ รอดูสถานการณ์ โดยเฉพาะการให้น้ำหนักว่าสหรัฐเองก็น่าใกล้จะหมดรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะปรับขึ้น 1.75% คิดว่า เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย เพราะต้องมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ เปลี่ยนไปจากอดีต เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตในลักษณะเร่งตัวแรงอย่างที่คิดไว้ เพราะภาคการส่งออกเองก็ฉุดเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่มาจากราคาพลังงานก็ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ก็มองว่า อัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นได้ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในอนาคต

“มองว่า กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้แล้วจะหยุดไว้ก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ เพราะมองว่า เศรษฐกิจขาลงมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การประชุมกนง.ในรอบหน้า น่าสนใจ เพราะมีเรื่องของการประชุมเฟด การพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนที่ต้องจับตา และเศรษฐกิจไทยในขณะนั้น ซึ่งการประชุมกนง.จะเกิดขึ้นก่อนที่สภาพัฒน์จะประกาศผลการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ”

เขายังกล่าวถึงปัญหาภาคการเงินในต่างประเทศว่า เหตุการณที่เกิดขึ้น อย่างน้อยมีผลทำให้คนเริ่มคาดการณ์ว่า สหรัฐน่าจะใกล้สิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้า 5.65% และจะปรับลดลงในครั้งต่อไป ฉะนั้น ภาพการลดดอกเบี้ยปลายปีที่แรงขึ้นก็มีผลให้ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่า ซึ่งปกติแล้วส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า แต่ตอนนี้ บาทไม่ได้กลับไปอ่อน เพราะปัจจัยดังกล่าว ซึ่งแบงก์ชาติเองก็อาจมีช่องทางที่ไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ และ มาหันมาดูอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก