“ฉัตรชัย ศิริไล”ชูภารกิจแก้หนี้เสียหลังรับตำแหน่งเอ็มดีธ.ก.ส.

“ฉัตรชัย ศิริไล”ชูภารกิจแก้หนี้เสียหลังรับตำแหน่งเอ็มดีธ.ก.ส.

“ฉัตรชัย ศิริไล”ชู 4 ภารกิจเร่งด่วนหลังรับตำแหน่งเอ็มดีธ.ก.ส.วันแรก ทั้งการแก้ไขหนี้เสีย ฟื้นฟูรายได้เกษตรกร นำเทคโนโลยีพัฒนาธุรกรรมการเงินและดูแลสภาพคล่องให้สอดคล้องกับสินเชื่อ เผยสัปดาห์นี้นัดถกออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นวันแรก(27มี.ค.)ว่า ภารกิจสำคัญที่จะเริ่มดำเนินงานกับ ธ.ก.ส.มีด้วยกัน 4 เรื่อง คือ 1.แก้ปัญหาหนี้เสียและดูแลลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้นไปเป็นหนี้เสีย 2.ฟื้นฟูภาคเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งรับมือกับความผันผวนเศรษฐกิจ

3.นำระบบเทคโนโลยีมาช่วยลูกค้าให้เข้าถึงบริการรูปแบบต่างๆได้ อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.ดูแลสภาพคล่องให้สอดคล้องกับแนวทางการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร

ทั้งนี้ สำหรับภารกิจในเรื่องการดูแลลูกหนี้นั้น ภายในสัปดาห์นี้จะมีการเรียกประชุม เพื่อออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าที่เป็นหนี้เสีย รวมถึง ดูแลลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงที่จะตกชั้นหนี้เสีย ปัจจุบันธนาคารมีหนี้เสียอยู่ที่ 8-9% แม้จะลดลงมาจากที่เคยขึ้นไปถึง 12% แต่ก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วง 2 ไตรมาสต่อจากนี้ ที่จะต้องไม่ให้ลูกหนี้ ที่มีความเสี่ยงไหลกลายไปเป็นหนี้เสียเพิ่ม

ภารกิจต่อมา ธนาคารจะเน้นการนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาด้านบริการ แก่ลูกค้า ธ.ก.ส.ซึ่งมีจำนวนมากให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ขณะเดียวกันจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดให้ถูกลง รวมถึง จะดูแลเงินฝากซึ่งปัจจุบันมีทั้งบัญชีเงินฝากกับสลาก ให้สอดคล้องกับความต้องการที่นำไปปล่อยกู้ตลอดจนทิศทางดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ จะเร่งเพิ่มความสามารถ ในการหารายได้แก่เกษตรกร เช่น ให้เกษตรกรมีการผสมผสานในการปลูกพืชระยะสั้น และพืชชนิดใหม่ ควบคู่กับพืชชนิดหลัก เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้ ยกตัวอย่าง ปัจจุบันมีการทำตู้คอนเทนเนอร์ปรับอากาศ เพื่อปลูกดอกทิวลิปในทะเลทราย รวมถึง ธนาคารจะเข้าไปเป็นตัวกลางคอยประสานในการนำผลผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพดีเข้ามาจำหน่ายให้กับผู้มีรายได้สูง เป็นต้น

“ที่ผ่านมาผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด และการพักหนี้มานาน ทำให้ความสามารถชำระหนี้ของเกษตรกรมีความเปราะบาง โดยแนวทางการช่วยเหลือ จะเน้นไปที่การสร้างวินัย เช่น คนมีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก และทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่า การพักหนี้ไม่ได้ส่งผลดีในระยะยาวเพราะพักหนี้แต่ดอกเบี้ยก็ยังเดินอยู่ จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ ส่วนกลุ่มที่เปราะบางจริงๆก็อาจจะเข้าไปดูแลเรื่องการพักหนี้ให้ นอกจากนี้ จะมีมาตรการจูงใจให้กับลูกหนี้ที่ชำระเงินดีด้วย”