ตรวจเงื่อนไข หักภาษี ณ ที่จ่ายผ่าน 'e-Withholding tax' ใครได้ประโยชน์บ้าง

ตรวจเงื่อนไข หักภาษี ณ ที่จ่ายผ่าน 'e-Withholding tax' ใครได้ประโยชน์บ้าง

ข้อดีของ "e-Withholding tax" คือ ผู้จ่ายเงินได้สิทธิไม่ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เป็นกระดาษ ส่วนผู้รับเงินที่ผู้จ่ายเงินใช้ระบบ e-Withholding tax อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะลดเหลืออัตรา 1% หากเป็นไปตามเงื่อนไข

e-Withholding tax เป็นบริการที่กรมสรรพากรร่วมกับธนาคารในประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถโอนเงินให้ผู้รับและหักภาษี ณ ที่จ่ายไปพร้อมกันในครั้งเดียว โดยผู้จ่ายเงินจะได้รับสิทธิไม่ต้องยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายทั้งรายเดือนและรายปี

โดยหากจะพูดถึงประโยชน์จากบริการ e-Withholding tax ทั้งผู้จ่ายเงินที่เป็นนิติบุคคล รวมถึงผู้รับเงินบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ผู้จ่ายเงินจะได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องออกหนังสือรับรอง และได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำและยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายรายเดือนและรายปี เช่น ภ.ง.ด.1 , ภ.ง.ด.2 , ภ.ง.ด.3 , ภ.ง.ด.53 , ก.ง.ด.1ก , ภ.ง.ด.2ก , ภ.ง.ด.3ก

นอกจากนี้ผู้จ่ายเงินยังได้สิทธิไม่ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เป็นกระดาษ ส่วนผู้รับเงินที่ผู้จ่ายเงินใช้ระบบ e-Withholding tax หักภาษี ณ ที่จ่าย อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะลดเหลืออัตรา 1% โดยหากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดดังนี้

  • นิติบุคคล “หักภาษี ณ ที่จ่าย”

ผู้จ่ายเงินที่มีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่ายผู้รับเงินได้นั้น จะต้องเป็นกิจการที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคล เมื่อมีการจ่ายเงินให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากจ่ายเงินผ่านระบบ e-Withholding tax จะสามารถจ่ายเงินพร้อมนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านธนาคารได้ในขั้นตอนเดียว

อีกทั้งไม่ต้องจัดทำหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ไม่ต้องจัดส่งและจัดเก็บหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ตลอดจนไม่ต้องยื่นแบบฯ และนำส่งภาษีต่อกรมสรรพากร ทางธนาคารจะดำเนินการให้โดยอัตโนมัติ

โดยผู้ประกอบการนิติบุคคลสามารถสมัครใช้งานได้ตามขั้นตอนดังนี้

1.สมัครขอรับบริการกับธนาคารที่รองรับระบบ e-Withholding tax ซึ่งประกอบด้วย

  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธอส.)
  • ธนาคารกรุงเทพ
  • ธนาคารมิซูโฮ สาขากรุงเทพ
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
  • ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

2.เมื่อโอนเงินให้ผู้รับและต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ส่งข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่ายของผู้รับผ่านระบบโอนเงินของธนาคารที่สมัครใช้งานไว้

3.จากนั้นธนาคารจะทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินภายในเวลา 4 วัน

4.ผู้จ่ายเงิน/ผู้โอนเงินสามารถตรวจสอบข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ภายใน 6 วัน ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร โดยใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีและพาสเวิร์ดที่เคยใช้ยื่นภาษีของระบบ e-Filing โดยไม่ต้องสมัครบริการ เพิ่มเติมกับกรมสรรพากรอีก (หากยังไม่เคยลงทะเบียนให้ลงทะเบียนก่อน)

5.ค่าบริการสูงสุด 10 บาทต่อรายการโอน 1 ครั้ง หรือเป็นไปตามที่แต่ละธนาคารกำหนด

  • บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล “ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย”

สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งตามหลักการผู้จ่ายจะต้องหักเงินไว้ก่อนที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้รับเงิน ตามอัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่กฎหมายกำหนด แตกต่างกันตามประเภทเงินที่จ่าย ดังนี้

- ค่าจ้างและเงินเดือน หักภาษี ณ ที่จ่ายต่ำสุด 0%

- จ้างทำงานหรือบริการ หักภาษี ณ ที่จ่ายต่ำสุดต่ำสุด 0%

- จ้างบริการวิชาชีพอิสระ หักภาษี ณ ที่จ่าย 3%

- จ้างรับเหมาหรือบริการ ทำของ หักภาษี ณ ที่จ่าย 3%

- ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ หักภาษี ณ ที่จ่าย 5%

- ค่าโฆษณา หักภาษี ณ ที่จ่าย 2%

- ค่าขนส่ง หักภาษี ณ ที่จ่าย 1%

ดังนั้น หากผู้จ่ายเงินได้ทำการโอนเงินให้กับผู้รับเงินผ่านระบบ E-withholding tax ตามประเภทภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตรา 5% 3% และ 2% จะเหลือหักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 1% เท่านั้น (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568) และผู้รับเงินจะได้รับแจ้งรายการโอนเงิน พร้อมข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านอีเมลที่ผู้จ่ายเงินได้ระบุไว้ในคำสั่งโอนเงิน

โดยผู้รับเงินไม่จำเป็นต้องจัดเก็บหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และสามารถตรวจสอบข้อมูลพร้อมดาวน์โหลดหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร เพียงใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษี/เลขบัตรประชาชนและพาสเวิร์ดที่เคยใช้ยื่นภาษีของระบบ e-Filing โดยไม่ต้องสมัครบริการเพิ่มเติมกับกรมสรรพากรอีก (หากยังไม่เคยลงทะเบียนให้ลงทะเบียนก่อน)

  • ขยายเวลาลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 1% ถึงปี’68

ทั้งนี้ บริการ e-Withholding Tax เป็นบริการที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2563 และหมดเวลามาตรการลดภาษีไปแล้ว ทว่าล่าสุดกรมสรรพากรขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายจากการลงทุนในระบบ e-Withholding Tax รวมถึงหักรายจ่ายค่าบริการระบบดังกล่าวได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายจริง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

2.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax โดยลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตรา 5% 3% และ 2% เหลืออัตรา 1% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

 

สรุป

เมื่อมีบริการ e-Withholding Tax รวมถึงมาตรการลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายเกิดขึ้น ถือเป็นการเพิ่มประโยชน์ให้กับทั้งผู้จ่ายเงินในนามนิติบุคคล และผู้รับเงินบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ช่วยลดต้นทุน ลดภาระในการจัดทำและการจัดเก็บเอกสาร รวมถึงลดภาระในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี

ส่วนผู้รับเงินก็ยังได้ประโยชน์จากการลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 1% หากผู้จ่ายเงินโอนเงินผ่านระบบ e-Withholding Tax ทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร.1161

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting