แบงก์ชาติ จ่อเพิ่ม ‘กระดาน’ ดอกเบี้ย เอื้อปล่อยกู้ตามความเสี่ยงลูกหนี้

แบงก์ชาติ จ่อเพิ่ม ‘กระดาน’ ดอกเบี้ย เอื้อปล่อยกู้ตามความเสี่ยงลูกหนี้

“แบงก์ชาติ” เผยอยู่ระหว่างทำแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ออกเกณฑ์ใหม่สร้างแรงจูงใจ ให้ดอกเบี้ยสะท้อนความเสี่ยงลูกหนี้ จ่อเพิ่มอีกหนึ่งกระดานดอกเบี้ย สำหรับแบงก์ที่มีระบบแยกแยะความเสี่ยงลูกหนี้ที่ดี หวังเอื้อแบงก์ปล่อยกู้กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อ

      นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท.อยู่ระหว่างทำ Consultation Paper เกี่ยวกับแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือ ออกเกณฑ์ใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ดอกเบี้ยสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ และผลักดันให้การรายงานข้อมูลเครดิตช่วยกระตุ้นการรีไฟแนนซ์ดีเพิ่มขึ้น

      โดยสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อรายย่อยมีกลไก กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสมตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย(Risk based pricing : PBP) กล่าวคือ ลูกหนี้ที่เสี่ยงต่ำ ควรจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าหรือรับเงื่อนไขสินเชื่อที่ดีกว่า จากปัจจุบันที่เจ้าหนี้มักปล่อยสินเชื่อกระจุกใกล้เพดาน ไม่ปรับลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้แม้มีประวัติชำระหนี้ดี

     นอกจากนี้ กลุ่มลูกหนี้เสี่ยงสูงที่ปัจจุบัน เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยาก ควรจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่ากลุ่มที่เสี่ยงต่ำ หรือสูงกว่าเพดานดอกเบี้ย แต่ยังกู้ในระบบได้

       การคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสมลูกหนี้ ส่วนนี้ไม่ได้ยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเดิม เพราะมองว่ายังจำเป็นต้องมีแต่อาจมีอีกหนึ่งเพดานดอกเบี้ย สำหรับผู้ให้กู้ ที่แยกแยะความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ ที่สามารถใช้เพดานดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้

     ทั้งนี้ เมื่อหลักเกณฑ์ชัดเจน ธปท.อาจเอาโมเดลการปล่อยสินเชื่อของเจ้าหนี้ เช่น สถาบันการเงินต่างๆ มาอยู่ในแซนด์บ็อกซ์ ที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox) ของธปท.ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่า เจ้าหนี้แยกแยะความเสี่ยงลูกหนี้ได้จริง

      “วันนี้ ผู้ปล่อยกู้ในระบบมีกว่า 100 ราย ไม่ใช่ทุกรายที่แยกแยะความเสี่ยงได้ ดังนั้นต้องมีเพดานอยู่สำหรับรายที่ไม่สามารถแยกแยะความเสี่ยงลูกหนี้ได้ แต่คนที่แยกความเสี่ยงได้ อาจต้องเข้าแซนด์บล็อก ธปท.มาดูก่อน แต่ยังไงก็ตามต้องมีเพดานบน เพื่อกำหนดว่าไม่ควรเกินเท่าไร วันนี้เรายังไม่พูดว่าตรงไหนเหมาะสม ต้องดูว่าโมเดลเป็นอย่างไร หากเจ้าหนี้แยกความเสี่ยงลูกหนี้ได้จริงก็สามารถขยับเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อได้ แต่ทั้งหมดต้องรอ Consultation Paper ที่จะออกมาในเร็วๆ นี้”

     อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนแก้หนี้อย่างยั่งยืน เกี่ยวกับการปล่อยกู้ตามความเสี่ยงลูกหนี้ ธปท.ยกตัวอย่าง การคิด Risk based pricing ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ผู้ปล่อยกู้ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงสาเหตุ ที่คิดดอกเบี้ยสูงกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ และวิธีปรับปรุงเพื่อให้ดอกเบี้ยที่ดีขึ้น ส่วนโมเดลปล่อยสินเชื่อจากมาเลเซีย สำหรับลูกหนี้ที่ดีที่มีโอกาสได้ดอกเบี้ยต่ำ เช่น ลูกหนี้จ่ายชำระดีต่อเนื่อง 10 เดือน ลดดอกเบี้ยลง 1% และหากชำระดีใน 12 เดือน ดอกเบี้ยลดลงอีก 3% จากเพดานที่ 18% เป็นต้น

      นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า การเปิดให้แบงก์ นอนแบงก์ปล่อยกู้ตามความเสี่ยงลูกหนี้ได้เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรจำกัดเพดานปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากการมีเพดานทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ

     การเสนอว่า ไม่ควรมีเพดานดอกเบี้ย เพื่อเปิดให้ผู้กู้กล้าปล่อยกู้ให้กับผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อมากขึ้น บนความเสี่ยงที่รับได้ ผ่านระบบที่น่าเชื่อถือของแบงก์ และการติดตามหนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เหล่านี้จะยิ่งหนุนให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่พึ่งพาหนี้นอกระบบซึ่งดีต่อระบบ เพราะยิ่งสามารถเอาหนี้นอกระบบขึ้นมาอยู่บนระบบได้มากเท่าไร ทางแบงก์จะมีข้อมูลทางการเงินข้อมูลลูกหนี้มากขึ้น

       นอกจากนี้ การเสนอว่าไม่ควรกำหนดเพดานยิ่งเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันปล่อยสินเชื่อมากขึ้นทำให้เกิดการแข่งขันดอกเบี้ย และดอกเบี้ยในระบบจะลดลงอัตโนมัติ ตามกลไกตลาด

    “ตราบใดที่ยังมีเพดาน แบงก์ยังคงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะยังไงกลุ่มนี้ยังเป็นลูกหนี้กลุ่มเสี่ยงสูง ที่แบงก์รู้ว่าเสี่ยงหนี้เสียแน่นอน ยิ่งไปกำหนดความเสี่ยงดอกเบี้ย ยิ่งไม่มีใครกล้าเสี่ยง ดังนั้น หากจะช่วยให้คนที่อยู่นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ ไม่ควรกำหนดเพดานดอกเบี้ย สำหรับผู้กู้ที่แยกแยะความเสี่ยงลูกหนี้ได้ ควรปล่อยให้ตลาดแข่งกันเอง แล้วในที่สุดดอกเบี้ยในระบบจะลดลงมา ตามผู้เล่นที่ต้องการเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น”

      นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) กล่าวว่า เชื่อว่า การมีระบบ ที่ทำให้แบงก์ปล่อยกู้ตามความเสี่ยงลูกหนี้ได้เป็นเรื่องที่ดี ที่เปิดโอกาสทั้งแบงก์ และผู้กู้ให้เข้าสู่ระบบได้มากขึ้น

     แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูง หรือเข้าไม่ถึงบริการการเงิน ในมุมสถาบันการเงินก็ยังเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูง แม้มีการขยับดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อเอื้อให้เกิดการปล่อยกู้ แต่กลุ่มนี้แบงก์อาจต้องสำรองเต็ม 100% ตามความเสี่ยงลูกหนี้ทันที ตั้งแต่ปล่อยกู้ แม้จะยังไม่ผิดนัดชำระหนี้

     ดังนั้น แนวทางที่ช่วยให้แบงก์กล้าปล่อยสินเชื่อคนที่เข้าไม่ถึงบริการการเงินได้ ธปท.อาจต้องใช้มาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ปล่อยกู้ เช่นเดียวกับมาตรการฟ้าส้ม ผ่อนปรนการตั้งสำรอง สำหรับแบงก์ที่เข้าไปช่วยลูกหนี้

 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์