กรมศุลกากรยึด “เมล็ดฝิ่น” ลักลอบนำเข้าจากตุรกีกว่า 2.6 หมื่นกิโลกรัม

กรมศุลกากรยึด “เมล็ดฝิ่น” ลักลอบนำเข้าจากตุรกีกว่า 2.6 หมื่นกิโลกรัม

กรมศุลกากรยึด “เมล็ดฝิ่น” ลักลอบนำเข้าจากตุรกีกว่า 2.6 หมื่นกิโลกรัม มูลค่า 30 ล้านบาท รวมยอดจับกุมนำเข้ายาเสพติด 5 เดือนปีนึ้ รวม 71 ราย มูลค่า 726 ล้านบาท

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากรแถลงข่าวการยึด “เมล็ดฝิ่น” ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ทางท่าเรือแหลมฉบัง น้ำหนัก 26,000 กิโลกรัม มูลค่า 30 ล้านบาท

นายพชรกล่าวว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีนโยบายเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทั้งการผลิต การนำเข้า การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่ายและสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด

ด้านกระทรวงการคลัง โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสันติพร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง เพิ่มความเข้มงวดและเดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรทุกเส้นทาง กรมศุลกากรจึงเพิ่มการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ ซึ่งที่ผ่านมามีการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและออกนอกราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง

สำหรับวันนี้ (วันที่ 1 มีนาคม 2566) กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม ตรวจพบใบขนสินค้าขาเข้าสำแดง เป็น งาขาว (WHITE POPPY SEEDS) ประเทศกำเนิด สาธารณรัฐตุรกี น้ำหนัก 26,000 กิโลกรัม

เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพของสินค้า พบเป็นเมล็ดพืชชนิดหนึ่ง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พิจารณาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้า เกิดข้อสงสัยหลายประเด็น เพื่อความชัดเจนจึงชักตัวอย่างสินค้านำส่งตรวจวิเคราะห์ ณ สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

จากนั้น ป.ป.ส. ได้รายงานผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างเบื้องต้น พบเป็นมอร์ฟีนและโคเดอีน ซึ่งเป็นแอลคาลอยด์ในเมล็ดฝิ่น และด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง แจ้งผลการตรวจสอบสินค้า พบว่า เมล็ดพืชดังกล่าวเป็นเมล็ดของพืชชนิด Papaver somniferum L. อยู่ในวงศ์ Papaverceae (เมล็ดฝิ่น)

กรมศุลกากรจึงเปิดตรวจตู้สินค้าดังกล่าว ณ ท่าเรือแหลมฉบังพบเมล็ดฝิ่น จำนวน 26,000 กิโลกรัมมูลค่า 30 ล้านบาท

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภท5 เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5

โดยการมีไว้เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน ตามมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ประกอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 กรณีความผิดฐานยื่น จัดให้ หรือยอมให้ผู้อื่นยื่นใบขนสินค้า เอกสาร หรือข้อมูล ซึ่งเกี่ยวกับการเสียอากรหรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์ นำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น

และมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 กรณีความผิดฐานสำแดงชนิดสินค้าไม่ถูกต้องในแบบ พ.ก.5 ตาม พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ.2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติดทั่วประเทศในปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 -  28 กุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวน 71 ราย มูลค่า 726 ล้านบาท