ประเด็นความยั่งยืนกับการลงทุน

หนึ่งในประเด็นที่เป็นข่าวสั้นๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ข่าวการเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและสื่อสารขนาดใหญ่ของจีนอย่าง Tencent ของกองทุนต่างประเทศบางแห่งในประเด็นเรื่องของการขัดต่อหลักธรรมมาภิบาล จากเรื่องของการแทรกแซงจากภาครัฐบาล

โดยเฉพาะในเรื่องของกฏระเบียบที่เพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมธุรกิจซึ่งสะท้อนความไม่โปร่งใส เนื่องจากเป็นการแสดงความพยายามของรัฐบาลในการแทรกแซงธุรกิจของเอกชน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากภาครัฐฯ มีความพยายามที่จะสอดแนมและปราบปรามเสรีภาพในการพูดของประชาชนผ่านหลากหลายช่องทางรวมถึงแพลตฟอร์ม เช่น WeChat ของ Tencent ด้วย

ทำให้ Sustainalytics บริษัทด้าน ESG ของ Morningstar ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรไปอยู่ในหมวด “ไม่สอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติ” (Non-compliant with UN Principles) ส่งผลให้มีกองทุนด้าน ESG ขายหุ้นออกมาราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้จะดูไม่มากเนื่องจากปริมาณการขายทั้งหมดจากข่าวมีขนาดใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการซื้อขายหุ้น Tencent รายวันในตลาดฮ่องกง (นับเฉลี่ย 3 เดือนล่าสุด) เท่านั้น

แต่ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืนกับการลงทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งบ่อยครั้งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะกระทบปัจจัยพื้นฐานในระยะยาว แต่ในระยะสั้นก็อาจจะส่งผลให้เกิด Sentiment เชิงลบได้ด้วยเช่นกัน

โดยไม่เพียงแต่ในต่างประเทศ ในบ้านเราปัจจัยด้านความยั่งยืนกับการลงทุนก็มีกรณีตัวอย่างให้เห็นเรื่อยๆ เช่นกัน โดยต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบัน เรื่องของ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG นั้นมีส่วนสำคัญ และเป็นปัจจัยที่มีการพิจารณากันอย่างจริงจังในแวดวงการลงทุน

ผลกระทบของปัจจัยด้านการลงทุนกับความยั่งยืนนั้นมีทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงก็คือปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินกิจการของธุรกิจ ยกตัวอย่างในกรณีของ Tencent ที่การเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบของภาครัฐฯ นั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้

รวมถึงการทำธุรกิจที่อาจมีประเด็นทางด้านสังคม เช่น เรื่องของเกมที่อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องของเยาวชนและอาจก่อให้เกิดประเด็นทางด้านสังคมจนนำมาซึ่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจและอาจขาดความยั่งยืนในระยะยาว ในขณะที่ผลกระทบทางอ้อมก็จะส่งผลช่องทางของการลงทุน เช่น การขายสินทรัพย์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG ของกองทุนหลายๆแห่ง

ที่มีการคำนึงถึงเรื่องของความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลงทุน (Sustainable Investment) และมีการใช้แนวทางเช่นเรื่องของ Negative หรือ Exclusionary Screening คือ การที่จะไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านสังคม สิ่งแวดลอม และบรรษัทภิบาล (ESG)  Positive Screening หรือ การลงทุนเฉพาะในอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่มีความโดดเด่นด้าน ESG

รวมถึงการทำ ESG Integration ที่มีการผนวกเอาประเด็นด้าน ESG ต่างๆ เช่น เรื่องของการปล่อยมลภาวะ โครงสร้างการบริหารงาน การมีส่วนร่วมของชุมชม เข้าไปกระบวนการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องของความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของปัจจัยจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะยาวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของประเด็นด้านอื่นๆ ที่เราจำเป็นจะต้องพิจารณาประกอบการลงทุนควบคู่ไปกับปัจจัยสำคัญอื่นๆ เช่น เรื่องของเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน งบการเงินและปัจจัยพื้นฐานด้วย

เครื่องมือในการติดตามและช่วยตัดสินใจด้าน ESG นั้นมีหลากหลายทั้งในส่วนของผลการประเมินด้านความยั่งยืน (ESG Assessment) จากหน่วยงานชั้นนำต่างๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น MSCI, Refinitiv, Sustainalytics หรือ S&P ข้อมูลโดยตรงจากบริษัทผ่านรายงานด้านความยั่งยืนต่างๆ หรือหากเป็นกองทุนก็อาจจะต้องพิจารณา Sustainability Rating ประกอบการตัดสินใจ

ในขณะที่ทางเลือกอีกทางในการมีส่วนร่วมต่อความยั่งยืนผ่านการลงทุน ก็คือการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ ทั้งกองทุนที่เน้นลงทุนในธีมยั่งยืนต่างๆ เช่น พลังงานสะอาด หรือกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนนำหลักการลงทุนอย่างยั่งยืนมาปฏิบัติใช้ในรูปแบบต่างๆ หุ้นกู้ยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่มีทั้งหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) หุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) หรือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ที่ในปัจจุบันนักลงทุนรายบุคคลก็สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน

ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นคนตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์เองหรือลงทุนผ่านกองทุนรวมในลักษณะต่างๆ ก็จะมีเครื่องมือหรือข้อมูลที่ช่วยให้เราตัดสินใจด้าน ESG ในลักษณะที่แตกต่างกัน แต่เราก็สามารถมีส่วนและพิจารณาเรื่องของความยั่งยืนประกอบการตัดสินใจได้เสมอ

ในโลกของการลงุทนมีปัจจัยมากมายที่มีส่วนต่อการกำหนดความสำเร็จของการลงทุน ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจมหภาค ปัจจัยพื้นฐาน รูปแบบธุรกิจ รวมถึงปัจจัยเฉพาะตัวต่างๆ แต่เรื่องของความยั่งยืนก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยด้านอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ด้านการส่งเสริมความยั่งยืนของโลกใบนี้ ลดต้นทุนในการดำรงชีวิตในด้านต่างๆ รวมถึงการไม่ผลักภาระต้นทุนในการดำรงชีวิตไปให้กับคนรุ่นถัดๆ ไปด้วยครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด