จับตา “เวียดนาม” เสี่ยงซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง หลังเผชิญมรสุมเศรษฐกิจ 5 ลูก

จับตา “เวียดนาม” เสี่ยงซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง หลังเผชิญมรสุมเศรษฐกิจ 5 ลูก

กูรูชี้เวียดนามเป็นประเทศที่เติบโตดีและเร็วในอาเซียน ทว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับวิกฤติการทุจริต วิกฤติฟองสบู่ภาคอสังหาฯ ปัญหาหนี้คุณภาพต่ำ เงินดองอ่อนค่าหนัก และทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำจนนักวิเคราะห์มองว่าอาจอยู่บนเส้นทางสู่วิกฤติต้มยำกุ้งแบบไทย

Key Points

  • กูรูประเมินว่าเวียดนามเป็นหนึ่งประเทศที่เติบโตดีและเร็วมากที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน โดยจีดีพีปี 65 โต 8.02%
  • ทว่าเวียดนามยังเผชิญกับปัญหาการทุจริตจากเจ้าหน้าที่รัฐ
  • ธนาคารเวียดนามกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำและเงื่อนไขการขอสินเชื่อไม่ซับซ้อนส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ เฟื่องฟูจนราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • 3 เดือนที่ผ่าน สกุลเงินดองอ่อนค่าลง 4.06% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ ต่อ 23,815 ดอง
  • หนี้คุณภาพต่ำของธนาคารพาณิชย์เวียดนามทั้งหมด 28 เพิ่มขึ้นเกือบ 11% เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาสแรกและเกือบ 20% เมื่อเทียบกับต้นปี 2565
  • นักวิเคราะห์ชี้ทุนสํารองเงินตราต่างประเทศอาจเพิ่มขึ้นแตะ 1.02 แสนล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2566 เทียบได้กับ 3.3 เดือนของมูลค่าการส่งนำเข้า ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย

 

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ของไทย แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ระบุว่า จีดีพีของไทยไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4% ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 3.2% และยังน้อยกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งจีดีพีขยายตัวอยู่ที่ 5.92% ไตรมาสเดียวกัน และหากเปรียบเทียบทั้งปี 2565 จีดีพีของไทยโตอยู่เพียง 2.6% ส่วนเวียดนามปรับขึ้น 8.02%

แม้อัตราเงินเฟ้อในเวียดนามจะเพิ่มสูงขึ้น ทว่าก็เป็นเพียงส่วนต่างเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย.อยู่ที่ 4.37% เดือนธ.ค.อยู่ที่ 4.55% เดือนม.ค.อยู่ที่ 4.89% โดยคาดว่าธนาคารกลางเวียดนามยังพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อและรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนในลักษณะที่ “เป็นมิตรต่อการเติบโตของประเทศ” ต่อไป

บทวิเคราะห์ “Vietnam in 2023: Facing a recession or a rebound?” ประเมินว่า ท่ามกลางวิกฤติทางเศรษฐกิจที่สหรัฐและประเทศทางฝั่งยุโรปกำลังเผชิญ เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ และจากการประเมินขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ก็เน้นย้ำว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกราว “สองในสาม” จะมาจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัวถึง 6.1% ธนาคารโลกคาดว่าจะขยายตัว 6.4% และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ประเมินว่าจะขยายตัว 6.7% ทั้งหมดชี้ชัดว่าเวียดนามเป็นหนึ่งประเทศที่ “เนื้อหอม” อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเวียดนามยังเผชิญปัญหาทางการเงินจำนวนหนึ่งที่อาจลดทอนความ “เนื้อหอม” ดังกล่าวลง จนกระทั่งนักวิเคราะห์บางส่วนมองถึงขนาดว่าท้ายที่สุดเวียดนามอาจกำลังอยู่บนเส้นทางสู่ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เหมือนที่ประเทศไทยประสบเมื่อปี 40 ได้แก่ วิกฤติการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ วิกฤติฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารกลางเวียดนามประสบปัญหาหนี้เสีย (NLP) เงินดองอ่อนค่าอย่างหนัก และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ามาตรฐาน

มรสุมเศรษฐกิจ 5 ลูกที่เวียดนามกำลังเผชิญ

วิกฤติการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ

จากการที่เวียดนามปกครองแบบรวมศูนย์ด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ เวียดนามจึงมี “ชื่อเสีย” เลื่องลือด้านการทุจริตจากเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดสามารถเข้ามาตรวจสอบพรรคคอมมิวนิสต์ได้ โดยเมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา พรรคได้ปลดเหวียน แถ่ง ลอง ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้โครงการ “เตาหลอม อันโชติช่วง” (Blazing Furnace) เพราะเขาถูกกล่าวหาว่าโก่งราคาและหาผลกำไรจากการนำเข้าชุดตรวจโควิด-19 ที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 5.87 พันล้านบาท 

มากไปกว่านั้น ในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ถึง อันห์ดุง ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเช่นเดียวกัน เพราะถูกกล่าวหาว่าติดสินบนจากการจัดเที่ยวบินรับชาวเวียดนามในต่างประเทศกลับภูมิลำเนาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังเก็บราคาตั๋วเครื่องบินแพงกว่าราคาจริง

ด้าน เหงียน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า

ปกติแล้วรัฐบาลมักจะหา “แพะรับบาป” ในกรณีที่เกิดการทุจริตขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเป็นวิธีเดียวที่ประชาชนจะรับรู้ว่ารัฐบาลจัดการปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง ซึ่งการกระทำดังกล่าวยิ่งง่ายเข้าไปอีกเมื่อพรรคมีอำนาจเต็มในการใช้อำนาจตุลาการ

วิกฤติฟองสบู่ภาคอสังหาฯ และการอ่อนค่าของเงินดอง

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม ทว่าภาคส่วนดังกล่าวกำลังเผชิญวิกฤติฟองสบู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารพาณิชย์กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำและเงื่อนไขการขอสินเชื่อไม่ซับซ้อนส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ เฟื่องฟูจนราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ธนาคารกลางเวียดนามพยายามจัดการปัญหาดังกล่าวผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเข้มงวดเรื่องการขอสินเชื่อมากขึ้นก็ตาม

จากวิกฤติข้างต้นผู้ซื้อบ้านชาวเวียดนามอาจระมัดระวังการใช้จ่ายเงินในภาคส่วนดังกล่าวมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการอสังหาฯ ก็อาจชะลอการก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรออกไป เนื่องจากจำนวนคนต้องการซื้อน้อยลง ซึ่งทั้งสองประเด็นอาจส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจเวียดนามที่พึงพิงภาคอสังหาฯ อย่างมีนัยสำคัญ หากพิจารณาประกอบกับการที่ธนาคารกลางเวียดนามขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นไปอาจกดดันภาคอสังหาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง (D/E Ratio) ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก 

นักวิเคราะห์มองว่าในอนาคตหากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงต่อไป บริษัทในภาคส่วนดังกล่าวอาจต้องปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทางการเงินใหม่ หรืออาจถึงปิดกิจการ แต่หากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่แรงมาก บริษัทในกลุ่มดังกล่าวอาจประสบปัญหาโครงสร้างการเงินเพียงช่วงสั้น ในขณะที่รายได้จะยังเติบโตได้อยู่

จับตา “เวียดนาม” เสี่ยงซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง หลังเผชิญมรสุมเศรษฐกิจ 5 ลูก

รูปภาพอาคารสไตล์ฝรั่งเศสใจกลางฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นในประเทศที่มีรายได้สูงอาจทำให้กระแสเงินทุน (Capital Flows) ไหลไปยังตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงและสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งท้ายที่สุดอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสกุลเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่นสกุลเงินดองของเวียดนาม

ช่วง 3 เดือนที่ผ่าน สกุลเงินดองอ่อนค่าลงประมาณ 4.06% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ ต่อ 23,815 ดอง ซึ่งโดยปกติรัฐบาลเวียดนามมักจะตรึงค่าเงินไว้ (Soft Peg) ไม่ให้อ่อนลง ทว่าในช่วงที่ผ่านมาเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงและยาวมากขึ้น ทำให้รัฐบาลไม่สามารถตรึงค่าเงินไว้ได้จึงจำเป็นต้องปล่อยให้ค่าเงินอ่อนตัวลงสูงสุด จนทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าคล้ายกับการลอยตัวค่าเงินบาทในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งของประเทศไทย อย่างไรก็ตามธนาคารกลางเวียดนามต้องการให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 23,400 ดองต่อ 1 ดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2566 และ 23,000 ดองต่อ 1 ดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2567

ธนาคารเวียดนามประสบปัญหาหนี้เสีย (NLP) 

ไตรมาส 4 ปี 2565 ธนาคารพาณิชย์เวียดนามยังเผชิญกับวิกฤติหนี้เสียจนธนาคารกลางเวียดนามออกหนังสือเวียนบอกให้ธนาคารพาณิชย์เลื่อนกำหนดจ่ายหนี้ออกไปเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565 โดยอนุญาตให้คงเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยของลูกหนี้ดังกล่าวอยู่ในอัตราเดิม ซึ่ง ณ ช่วงท้ายเดือนเม.ย. 2565 ยอดสินเชื่อครบกำหนดชำระสะสมแตะ 695 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีผู้กู้ 1.1 ล้านคนที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ อัตราส่วนของ NPL ในงบดุลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.ปี 2565 โดย NPL รวมของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนทั้งหมด 28 แห่งมีมูลค่า 122 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 5.12 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาสแรกและราว 20% เมื่อเทียบกับต้นปี 2565

ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ามาตรฐาน

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ The Investor Vafie Magazine รายงานถ้อยแถลงของโบรกเกอร์ชื่อดังของ “VNDIRECT Securities Corporation” ว่า ทุนสํารองเงินตราต่างประเทศของเวียดนามอาจแตะ 1.02 แสนล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2566 เทียบได้กับ 3.3 เดือนของมูลค่าการส่งนำเข้า ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศรวมของประเทศไทยเดือนม.ค. ปี 66 อยู่ 2.25 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.ปี 2565 ที่ 2.17 แสนล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ 10 ก.พ. 2566) โดยเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว ธนาคารกลางเวียดนามขายเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 20% เพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ทุนสํารองเงินตราต่างประเทศของเวียดนามลดลงเหลือต่ำกว่าสามเดือนของการนําเข้า ทั้งยังต่ำกว่าระดับที่ IMF แนะนํา

จากทั้ง 5 มรสุมที่เวียดนามเผชิญจึงน่าตั้งคำถามต่อไปว่าทิศทางของเศรษฐกิจเวียดนามภายใต้การบริหารงานของพรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นไปในทิศทางใด และเวียดนามยังคงเป็นประเทศที่ “เนื้อหอม” อยู่หรือไม่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเวียดนามขณะนี้คล้ายกับที่เกิดขึ้นกับไทยในปี 40 ที่ก่อนหน้านั้นนับตั้งแต่ปี 2530-2539 เศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยความเร่ง จนหลายคนฝันถึงการเป็น “เสือตัวที่ 5” และดิ่งลงเหวหลังจากนั้นด้วย “โครงสร้างเศรษฐกิจ” ที่พึ่งพิงปัจจัยการผลิต และการตลาดต่างประเทศมากเกินไป “โครงสร้างการออมภายในประเทศ” ที่ต่ำกว่าการลงทุน รวมทั้ง “โครงสร้างเงินกู้ต่างประเทศ” ของภาคเอกชนที่กู้เงินในรูปดอลลาร์ แต่มีรายได้เป็นเงินบาท