GDP ไทยปี 2022 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด จะส่งผลให้มุมมองการลงทุนในปี 2023 เปลี่ยนไปหรือไม่?

GDP ไทยปี 2022 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด จะส่งผลให้มุมมองการลงทุนในปี 2023 เปลี่ยนไปหรือไม่?

สืบเนื่องจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยถูกมองว่าน่าจะเติบโตได้ดีจากหลายๆ ปัจจัยที่มาสนับสนุน แต่เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา

ตัวเลข GDP ของทั้งปี 2022 ประกาศออกมาขยายตัวเพียง 2.6% ต่ำกว่าที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้ที่ 3.2% จากตัวเลขที่ต่ำลงกว่าคาดค่อนข้างมาก เหตุผลหลักเป็นเพราะ GDP ในไตรมาสที่ 4 ออกมาต่ำกว่าคาด โดยขยายตัวได้เพียง1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวลง 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ที่เติบโตได้ 4.5% ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาเซอร์ไพรส์ตลาดนี้ จะทำให้มุมมองการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร

สำหรับ GDP ในไตรมาส 4 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดค่อนข้างมาก หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่า GDP ในไตรมาส 4 ที่หดตัวลงใน QoQ นั้นมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวลงถึง 10.5% ทั้งนี้ เป็นเพราะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเร็ว และการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาครัฐ เนื่องจากความช่วยเหลือเกี่ยวกับ Covid-19 ที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนในด้านอื่นๆ ของ GDP ยังพบว่ามีการขยายตัวค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการที่มีปัจจัยหลักๆ มาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมากถึง 94.6% จากการเปิดประเทศ การลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัว และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2023 ทางด้าน สศช. คาดว่าจะเติบโตได้ 2.7-3.7% ลดลงจากที่เคยคาดไว้ที่ 3-4% เนื่องจากคาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกอาจจะหดตัวลง 1.6%

สำหรับปี 2023 แม้การส่งออกจะสร้างความกังวลต่อตัวเลขเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้วเท่าตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยก็พบว่าชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนม.ค.ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากการปรับตัวลงของราคาพลังงาน นอกจากนี้ ภาพรวมทั้งปีน่าจะมี Fund Flow ไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ในด้านเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังคงมีความกังวล หลักๆมาจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่แม้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ลดลงในอัตราที่ช้าลง โดยในเดือนมกราคมตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ที่ 6.4% (สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 6.2%) บวกกับตัวเลข PPI ของสหรัฐในเดือนม.ค.อยู่ที่ 6% ซึ่งออกมาสูงกว่าคาด

แสดงให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันที่อาจทำให้เงินเฟ้อยิ่งลดลงได้ช้ากว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ จากตัวเลขอัตราการว่างงานที่ออกมาต่ำกว่าคาด สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคแรงงาน โดยรวมแล้วจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงในอัตราที่ช้าลง บวกกับภาคแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้เกิดความกังวลว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยยาวนานกว่าที่คาดไว้และเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ระดับ 5.25-5.5%

โดยสรุปแล้ว มุมมองการลงทุนของตลาดหุ้นประเทศไทย ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกเหมือนเดิม แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2022 จะออกมาต่ำกว่าคาด แต่เนื่องจากปัจจัยบวกเรื่องการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน Fund Flow ที่มีแนวโน้มไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของไทยน่าจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตต่อไปได้ ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยก็น่าจะยังคงเติบโตสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจจะต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทยซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของ GDP