“แม่ค้าออนไลน์” ต้องรู้เรื่อง “ภาษี” คำนวณแบบไหน ยื่นอย่างไร? เช็กที่นี่

“แม่ค้าออนไลน์” ต้องรู้เรื่อง “ภาษี” คำนวณแบบไหน ยื่นอย่างไร? เช็กที่นี่

“แม่ค้าออนไลน์” ต้องรู้วิธีคำนวณ “ภาษี” และการจัดการรายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน ต้นทุนต่างๆ อาจดูน่าปวดหัวแต่จริงๆ แล้วไม่ยากอย่างที่คิด หากรู้จักวางแผน และจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่ายอย่างครบถ้วน

"แม่ค้าออนไลน์" เป็นหนึ่งในอาชีพที่มาแรงแซงโค้งมากที่สุดในช่วงโควิดที่ผ่านมา สร้างรายได้ดีจนมนุษย์ออฟฟิศบางคนหันมายึดเป็นอาชีพหลักเลยก็มี และเนื่องจากรายได้ที่เข้ามาถี่ๆ แน่นอนว่าสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ “ภาษี” ที่ตามมา

กรุงเทพธุรกิจ ชวนทำความเข้าใจ และรู้ถึงขั้นตอนการยื่นแบบภาษีสำหรับแม่ค้าออนไลน์ ต้องทำอย่างไรบ้าง? โดยมีข้อมูลจาก “กรมสรรพากร” มาไขข้อข้องใจให้หายสงสัย ดังนี้

 

  • ภาษีอะไรบ้างที่แม่ค้าออนไลน์ต้องรับผิดชอบ

บุคคลธรรมดาที่เป็น “แม่ค้าออนไลน์” ถือเป็นบุคคลที่มีเงินได้ประเภทที่ 8 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(8) คือ เงินที่ได้จากการทำธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร อุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรืออื่นๆ ที่ระบุไว้ตามมาตรา 40(1) - (7) จึงต้องมีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งภาษีที่เกี่ยวข้องกับแม่ค้าออนไลน์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ขายของออนไลน์' มียอดขายเท่าไร ถึงต้อง 'ยื่นภาษี' ?  

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.)

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลธรรมดาทั่วไป สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สถานะ ได้แก่

1.1) สถานภาพโสด หากมีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์เกิน 60,000 บาท ต่อปี จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

1.2) สถานภาพสมรส หากมีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์เกิน 120,000 บาท ต่อปีซึ่งรวมกับรายได้ของคู่สมรสเเล้ว จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยสามารถคำนวณได้ ดังนี้ 

รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ จากนั้นนำเงินได้สุทธิ × อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่ร้านค้าออนไลน์มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยสามารถคำนวณได้ ดังนี้ 

รายได้ - ค่าใช้จ่าย = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในกรณีแม่ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ ซึ่งไม่รวมกับกำไร เกินมูลค่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้อง “จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” ซึ่งต้องจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และในปัจจุบันคิดอัตราภาษีอยู่ที่ 7%

“แม่ค้าออนไลน์” ต้องรู้เรื่อง “ภาษี” คำนวณแบบไหน ยื่นอย่างไร? เช็กที่นี่

4. ภาษี E-Payment เป็นการส่งข้อมูลยอดเงินของเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร ให้แก่สรรพากร โดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้สรรพากร คือ

4.1) ต้องมีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี (ไม่ดูจำนวนเงิน)

4.2) มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และจำนวนเงินรวมเกินสองล้านบาท (นับเฉพาะเงินรับฝากเข้า)

ดังนั้นธนาคารจำเป็นต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร หากบัญชีนั้นๆ มีเงินฝากเข้าตามเงื่อนไขดังกล่าว พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์จึงต้องเตรียมรับมือกับข้อมูล “รายได้” ที่อาจถูกธนาคารส่งให้กับสรรพากรด้วย

 

  • การ "ยื่นแบบภาษี" ต้องยื่นช่วงเวลาไหนดี?

การยื่นแบบภาษี มีระยะเวลาที่ทางกฎหมายได้กำหนดเอาไว้โดยชัดเจน ซึ่งการยื่นแบบภาษีสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

1. การยื่นภาษีแบบครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) สามารถยื่นได้ ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน ของทุกปี โดยคิดรายได้การยื่นภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน มาแสดงในการยื่นภาษี และต้องยื่นภายในวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน ในปีนั้น

2. การยื่นภาษีแบบปลายปี (ภ.ง.ด.90) สามารถยื่นได้ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยคิดรายได้การยื่นภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม มาแสดงในการยื่นภาษี และต้องยื่นภายในวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป

หากแม่ค้าออนไลน์ไม่เสียภาษีให้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ถือว่ามีความผิดทางแพ่ง และทางอาญาด้วย ซึ่งอัตราการคิดค่าปรับหากไม่ยื่นภาษีตามระยะเวลาที่กำหนด มีอัตราดังต่อไปนี้

1. อัตราค่าปรับแบบ 7 วัน มีค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 100 บาท

2. อัตราค่าปรับแบบเกิน 7 วัน มีค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 200 บาท และอาจต้องเสียภาษีเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน

 

  • "แม่ค้าออนไลน์" ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างในการยื่นภาษี 

ในโลกของการขายออนไลน์นั้น หากมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนของร้าน ก็ควรขอใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษีทุกครั้ง รวมทั้งเก็บเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นแก่กรมสรรพากร และควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบรายละเอียดว่าร้านของเรามี รายได้ รายจ่าย กำไร เเละต้นทุน อย่างถูกต้องครบถ้วน ซึ่งรวมถึงเอกสารต่อไปนี้

1. รายการเดินบัญชีธนาคารที่ใช้

2. รายการใบสั่งซื้อสินค้าต่างๆ หรือใบบันทึกที่ทางร้านทำไว้ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องให้เรียบร้อย

3. บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และทะเบียนพาณิชย์ (ถ้ามี)

“แม่ค้าออนไลน์” ต้องรู้เรื่อง “ภาษี” คำนวณแบบไหน ยื่นอย่างไร? เช็กที่นี่

 

  • ค่าใช้จ่าย = ต้นทุน และทำความเข้าใจ "ค่าลดหย่อน" 

นอกจากนี้แม่ค้าออนไลน์ต้องทำความเข้าใจว่า ต้นทุน=ค่าใช้จ่าย ก่อนการเสียภาษีเเต่ละครั้งเราต้องหักค่าใช้จ่ายออกจากรายได้ ก่อนที่จะนำมาคำนวณรายได้สุทธิ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ว่านี้สามารถเลือกหักได้ 2 แบบ คือ

  1. การหักค่าใช้จ่ายตามจริง  ในกรณีนี้จะต้องจัดเก็บรวบรวม บัญชีรายรับ-รายจ่ายพร้อมทั้งหลักฐานต่างๆ ไว้ให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบเมื่อต้องยื่นภาษี (แนะนำสำหรับธุรกิจที่มีต้นทุนสูง)
  2. การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% (แนะนำสำหรับธุรกิจที่ต้นทุนไม่สูง)

ส่วนสิ่งที่เรียกว่า "ค่าลดหย่อนภาษี" นั้น ก็คือ รายการค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กรมสรรพากรประกาศให้นำมาหักลบกับรายได้ เพื่อให้เราสามารถคำนวณรายได้สุทธิออกมาได้ และนำไปเปรียบเทียบกับภาษีอีกครั้งหนึ่ง หรือที่มักจะได้ยินกันว่าการคำนวณภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งแน่นอนว่าค่าลดหย่อน จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพราะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน 

 

  • ขั้นตอนง่ายๆ ในการยื่นจ่ายภาษี
  1. ตรวจดูต้นทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ว่า ใช้ต้นทุนเป็นจำนวนเงินเท่าไร
  2. เมื่อถึงสิ้นปี ให้สรุปว่ามีค่าใช้จ่ายในปริมาณเท่าไร (หากมีต้นทุนที่สูงให้เลือกเป็นการหักค่าใช้จ่ายตามจริง แต่หากธุรกิจมีต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก ให้เลือกการหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมา)
  3. เขียนรายการค่าลดหย่อนต่างๆ ที่สามารถนำมาหักลบได้
  4. จากนั้น จะเป็นการคำนวณภาษี คือ การนำ รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน นำมา * อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย >> ตรงนี้ฝากปรับใหม่เหมือนข้างบนจ้า
  5. เมื่อทราบอัตราภาษีที่ต้องจ่ายแล้ว สามารถยื่นจ่ายภาษีได้เลย

โดยสามารถยื่นแบบภาษี และหากมียอดจ่ายภาษีก็สามารถชำระภาษีได้ตามช่องทางต่างๆ ดังนี้ 

  1. การยื่นแบบออนไลน์ด้วยตนเอง สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th
  2. ยื่นที่สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ 
  3. ยื่นผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax 

 

  • ข้อสงสัยยอดฮิตเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุน

นอกจากข้อสงสัยเกี่ยวกับมูลค่าการยื่นภาษีที่เหล่าแม่ค้าออนไลน์ต้องรับผิดชอบแล้ว คำถามใน 3 กรณีต่อไปนี้ ก็เป็นที่น่าสงสัยไม่เเพ้กัน ได้แก่

  1. กรณีที่ลดราคาสินค้าให้ลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น ราคาขายจริง 100 บาท แต่ลดราคาให้ลูกค้า และขายไปในราคา 80 บาท จะต้องยื่นภาษีในราคา 80 บาทซึ่งเป็นจำนวนเงินหลังหักส่วนลดเรียบร้อยแล้ว
  2. กรณีที่ต้องคิดค่าบริการขนส่งกับลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น ราคาขายสินค้าจริง 100 บาท และเรียกเก็บเงินค่าบริการขนส่งกับลูกค้าอีก 50 บาท รวมเป็น 150 บาท จะต้องยื่นภาษีในราคา 150 บาท 
  3. กรณีที่ต้องจ่ายค่าบริการให้แพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างเช่น ขายสินค้าในแพลตฟอร์ม xx และมีค่าบริการให้แพลตฟอร์ม 100 บาท ในกรณีนี้ไม่สามารถนำค่าบริการแพลตฟอร์มมายื่น เพื่อหักในค่าใช้จ่ายภาษีได้

ดังนั้นแล้ว ทางที่ดีแม่ค้าออนไลน์ควรเตรียมตัว และวางแผนการใช้จ่ายต่างๆ ให้ครบถ้วน เพื่อจะได้สามารถจัดทำบัญชี ก่อนที่จะถึงเวลายื่นแบบภาษีในแต่ละครั้ง เป็นการป้องกันข้อผิดพลาด และเพื่อไม่ให้กระทบต่อการลงทุน และกระทบต่อเงินในกระเป๋านั่นเอง

------------------------------------

อ้างอิง : iPac4Noayrkrungsri-the-coach 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์