แนวทางการเลือกจัดทำ “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” สำหรับร้านค้าจด VAT

แนวทางการเลือกจัดทำ “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” สำหรับร้านค้าจด VAT

ทำความเข้าใจ “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งกรมสรรพากรพัฒนามาเพื่อรองรับขนาดธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน โดยมี 2 แบบ คือ e-Tax Invoice & e-Receipt และ e-Tax Invoice by Email แต่ควรเลือกแบบไหน ต้องเข้าใจเงื่อนไขให้ละเอียด

ผู้มีรายได้จากการขายหรือบริการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากผลประกอบการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กฎหมายกำหนดให้ผู้มีรายได้ต้องยื่นแบบ ภ.พ.01 เพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท

จากนั้นเมื่อมีการซื้อขายและบริการเกิดขึ้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องออก "ใบกำกับภาษี" (TAX INVOICE) ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในแต่ละครั้ง

แนวทางการเลือกจัดทำ “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” สำหรับร้านค้าจด VAT

โดยส่วนใหญ่จะเลือกออกใบกำกับภาษีในรูปแบบของกระดาษ ส่งให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ แทนการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพากรจัดทำขึ้น ซึ่งหลายครั้งต้องส่งทางไปรษณีย์ ยิ่งถ้าหากเป็นธุรกิจกิจซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยแล้ว โอกาสใบกำกับภาษีสูญหายหรือเสียหายสูงมาก

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาใบกำกับภาษีสูญหาย หรือการส่งข้อมูลผิดพลาดให้กรมกสรรพากร ควรหันมาใช้ "ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์" ซึ่งถือเป็นวิธีการหนึ่งที่มีประโยชน์ในหลายด้าน

และกรมสรรพากรพัฒนามาเพื่อรองรับขนาดธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน โดยมี 2 แบบ คือ e-Tax Invoice & e-Receipt และ e-Tax Invoice by Email ซึ่งกิจการสามารถเลือกที่เข้ากับธุรกิจของตนเองได้ โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

  • ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt

e-Tax Invoice & e-Receipt เป็นระบบบริการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ประกอบการต้องจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกับมีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ที่มีความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานสากล และนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt จะเป็นมาตรฐานที่มีผลทางกฎหมาย โดยจะต้องระบุหมายเลขใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และลายมือชื่อดิจิทัลเป็นเครื่องยืนยันตัวตนของผู้ออกใบกำกับภาษี และรับรองถึงความถูกต้องของข้อมูล

แนวทางการเลือกจัดทำ “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” สำหรับร้านค้าจด VAT

ขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีและใบรับระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt

- เข้าเว็บไซต์เพื่อยื่นคำขอที่กรมสรรพากร

- ดาวน์โหลดโปรแกรม Ultimate Sign & Viewer Free และติดตั้งลงเครื่องคอมพิวเตอร์

- เชื่อมต่ออุปกรณ์ Token หรือ HSM ที่จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์กับเครื่องคอมพิวเตอร์

- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และตรวจสอบข้อมูล

- ลงลายมือชื่อใน บ.อ.01 และข้อตกลง

- ตรวจสอบอีเมล และสร้างบัญชีผู้ใช้งาน

- ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ บ.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

  • ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice by Email

e-Tax Invoice by Email เป็นระบบบริการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอีเมล ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายย่อยที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และออกใบกํากับภาษีจำนวนไม่มาก ไม่มีการบริหารจัดการด้านเอกสารที่เป็นระบบขนาดใหญ่ รวมถึงอาจยังไม่พร้อมที่จะออกใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบสมบูรณ์ตามที่กรมสรรพากรกำหนดผ่านระบบกลางของ สพธอ.ได้

โดยขั้นตอนในการจัดทำ ไม่ยากและไม่ซับซ้อน ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอีเมล โดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) และระบบจะส่งไฟล์ข้อมูลให้กับผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า เพื่อจัดเก็บหรือใช้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมต่อไป

แนวทางการเลือกจัดทำ “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” สำหรับร้านค้าจด VAT

ขั้นตอนการสมัครเข้าระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt by Email

- เข้าเว็บไซต์เพื่อยื่นคำขอกรมสรรพากร www.rd.go.th

- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและตรวจสอบข้อมูล พิมพ์เอกสาร ก.อ.01 เพื่อลงนาม

- สแกน ก.อ.01 และเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่ออัพโหลดเอกสาร

- กรมสรรพากรตรวจสอบความถูกต้องและจัดส่งเอกสารยืนยันทางไปรษณีย์ พร้อมรหัสยืนยัน (Activate Code)

- ยืนยันตัวตนผ่านทางเว็บไซต์ และกำหนดรหัสผ่านภายใน 15 วันทำการ

- แจ้งอีเมลที่ประสงค์จะใช้ในการส่งใบกำกับภาษี และใบรับ

- ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมติ ก.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

  • เปรียบเทียบรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบไหนเหมาะกับกิจการของคุณ

รูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

สรุป

แนวทางการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับ ทั้ง 2 รูปแบบ เป็นระบบบริการที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการ โดยสามารถเลือกให้เหมาะกับขนาดธุรกิจของตนเองได้ เช่นหากมีธุรกิจขนาดใหญ่ ควรเลือกใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ส่วนธุรกิจขนาดเล็ก ควรเลือกใช้ระบบ e-Tax Invoice by Email

เพื่อช่วยลดปัญหาการจัดการข้อมูลหรือเอกสารที่อยู่ในรูปแบบของกระดาษ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร ลดการใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ด้วย

----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่