แบงก์ชาติ หวังเศรษฐกิจฟื้น พยุงลูกหนี้ออกจากมาตรการช่วยเหลือเพิ่ม

แบงก์ชาติ หวังเศรษฐกิจฟื้น พยุงลูกหนี้ออกจากมาตรการช่วยเหลือเพิ่ม

‘แบงก์ชาติ’ หวังเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง ช่วยพยุงลูกหนี้ออกจากมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ด้านธนาคารพาณิชย์ เดินหน้าขยายเวลาชำระหนี้ อุ้มลูกหนี้ที่ยังโดนผลกระทบ

        โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และไทยตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ทำให้ธนาคารหลายแห่งต้องออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้จำนวนมาก เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ผลักดันนโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพักหนี้ รวมไปถึงการยืดเวลาชำระหนี้ และการปรับโครงสร้าง ตลอดจนการเติมเงินใหม่ผ่านสินเชื่อฟื้นฟู หรือสินเชื่อเพื่อการปรับตัว 

     แม้ผลกระทบจากโควิดจะเริ่มเบาลง เศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ลูกหนี้ภายใต้มาตรการทางการเงินต่างๆ ยังมีจำนวนมาก แม้ว่าจะมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องก็ตาม โดยล่าสุด ณ สิ้นเดือนก.ย.2565 ลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของ ธปท. มีทั้งหมด 3.83 ล้านบัญชี หรือมียอดภาระหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือ 2.98 ล้านล้านบาท

ทบทวนต่อมาตรการช่วยเหลือกลางปี 66

       นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่า มาตรการทางการเงิน ที่ออกมาในปัจจุบัน มีเพียงพอ ในการดูแล และช่วยเหลือลูกหนี้ได้ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน

       ประกอบกับ เศรษฐกิจไทยที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง และกระจายตัวไปสู่ภาคเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ น่าจะมีส่วนเสริมรายได้ และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น ดังนั้นหวังว่าการฟื้นตัวของรายได้ จะช่วยลดผลกระทบจากภาระดอกเบี้ย และช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้มาตรการให้ปรับตัวดีขึ้นได้

       “ขณะนี้ยังพอมีเวลาในการพิจารณามาตรการทางการเงินต่างๆ ที่จะหมดอายุกลางปีนี้ แต่เท่าที่คุยกับธนาคารพาณิชย์ ที่มีอยู่เพียงพอกับสถานการณ์ แต่หากมีอะไรที่สามารถทำได้เพิ่มเติม ลักษณะเฉพาะเจาะจง ที่สามารถช่วยได้ และไม่สร้างปัญหาอื่นๆ ก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องมาดูตามสถานการณ์ในระยะข้างหน้าด้วย”

หวัง ศก.ฟื้นหนุนลูกหนี้ออกจากมาตรการเพิ่ม

       นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ปัจจุบัน มีหลายราย ที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจ กลับมาฟื้นตัวได้ และสามารถเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว

      อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า มีบางรายที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว ยังไม่สามารถกลับมาได้ ดังนั้นก็ต้องประคอง และช่วยเหลือลูกหนี้ต่อไป แต่ก็เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น จากปัจจัยบวกที่เข้ามา ทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีช่องทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น

      “ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมา เชื่อว่าไม่น่าห่วง เพราะการขึ้นดอกเบี้ย ธปท.คงระมัดระวัง และไม่ให้กระทบต่อกลุ่มเปราะบาง และเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมั่นคง ส่วนภาพหนี้เสียของธนาคาร ถือว่าอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แม้จะมีขึ้นมีลงบ้าง แต่โดยรวมไม่น่ากังวลใจในปีนี้”

 ขยายเวลาชำระหนี้ยาวขึ้นช่วยลูกหนี้

      นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธนาคารทีเอ็มบีธนชาต(ttb) กล่าวว่า ลูกหนี้ที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคาร ปัจจุบันอยู่ที่ 12% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อย หากเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 11%

      โดยการเพิ่มขึ้น ของลูกหนี้ในมาตรการส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเกณฑ์การออกจากพอร์ตสินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้างของทีทีบีที่เข้มงวดขึ้น เพื่อการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ ภายใต้พอร์ตสินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้าง

      โดยลูกหนี้ ประมาณ 8% ของสินเชื่อรวม มีการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการขยายเวลาชำระหนี้ ซึ่งเทียบเท่ากับเกณฑ์สีส้มของ ธปท. ขณะที่ 4% ของลูกหนี้จากพอร์ตสินเชื่อรวม มีการปรับโครงสร้างหนี้ ที่มีเงื่อนไข เพื่อลดภาระการชำระหนี้เทียบเท่าเกณฑ์สีฟ้าของ ธปท.

       ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้ กลุ่ม (เอสซีบี เอกซ์) เปิดเผยว่า ยอดสินเชื่อ ภายใต้การปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ (มาตรการสีฟ้า) มีจำนวน 2.78 แสนล้านบาท หรือ 12% ของสินเชื่อรวม โดยที่ประวัติการชำระเงินของลูกหนี้ภายใต้การปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จยังเป็นไปตามที่คาดหมาย ส่งผลให้ หนี้เอ็นพีแอลของธนาคาร ปรับตัวดีขึ้น มาอยู่ที่ 3.3% จาก 3.8% ณ สิ้นปีก่อน

       ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กรุงศรี ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่รับผลกระทบจากโควิดต่อเนื่อง ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ การรวมหนี้ และการสนับสนุนสภาพคล่อง

   โดย สิ้นปีที่ผ่านมา ธนาคาร ให้สินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้มาตรการแล้ว 8% ของเงินให้สินเชื่อรวม หรือจํานวน 150,965 ล้านบาท โดยเป็นลูกค้ารายย่อย 133,554 บัญชี และลูกค้าธุรกิจ 4,980 ราย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการสนับสนุนวงเงินให้สินเชื่อ จํานวน 16,405 ล้านบาท คิดเป็นลูกค้าจํานวน 4,565 ราย เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

      ทั้งนี้ สำหรับ มาตรการ การช่วยเหลือลูกหนี้ ตามกลุ่ม ฟ้า ส้ม ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ กลุ่มสีฟ้าคือ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกหนี้เป็นหลัก

       และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขในการช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเพียงพอเหมาะสม ขณะที่ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ในกลุ่ม “สีส้ม” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผ่านการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์