ปัญหาเร่งด่วนของเศรษฐกิจไทยและแนวทางแก้ไข | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ปัญหาเร่งด่วนของเศรษฐกิจไทยและแนวทางแก้ไข | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนได้รับโจทย์ให้ฉายภาพถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้านต่างๆ ของประเทศ ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย  สมควรได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ผู้เขียนจึงขออนุญาตบางส่วนนำมาแบ่งปัน

1.นโยบายการเงินตึงตัวเกินไป วัดจากประเด็นค่าเงินและดุลบัญชีเดินสะพัด

ปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก โดยแข็งค่าสูงสุดในรอบ 9 เดือนมาอยู่ที่ 33.0 บาทต่อดอลลาร์ และเป็นระดับเดียวกับช่วงต้นปี 2022 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดประเทศของจีน

ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ไทยจะได้อานิสงส์ผ่านทางนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก จึงมีเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท นับจากต้นปี มีเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรถึงกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท

ผู้เขียนมองว่า ในปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานไปมาก วัดจาก ดัชนี Nominal Effective Exchange Rate ที่วัดค่าเงินบาทเทียบกับทุกสกุลกลับมาแข็งค่าขึ้นถึงกว่า 5% ในช่วง 2 เดือน 

ภาพเช่นนี้ ขัดกับปัจจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยกำลังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น จากการส่งออกที่หดตัวมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวที่แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น อาจไม่สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปจากการส่งออกได้หมด 

ผู้เขียนเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริหารจัดการค่าเงินน้อยเกินไปในช่วงปลายปี 2022-ต้นปี 2023 ทำให้มีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินมากเกินไป เห็นได้จาก

(1) เม็ดเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรช่วงต้นปี 2022 มีถึง 6.1 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 28.6% ของเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรทั้งปี 2022

(2) หากพิจารณาจากระดับการเพิ่มขึ้นของทุนสำรอง + Forward เพิ่มขึ้นเพียง 9.3% ขณะที่ช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า ทุนสำรองไหลออกถึงกว่า 19% ผู้เขียนจึงเชื่อว่า ธปท. สามารถเข้าบริหารจัดการเงินบาทได้มากกว่านี้

ปัญหาเร่งด่วนของเศรษฐกิจไทยและแนวทางแก้ไข | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

แนวทางแก้ไข : ในระยะสั้น ธปท. อาจส่งสัญญาณเข้าดูแลเงินบาทมากขึ้น รวมถึงอาจเริ่มส่งสัญญาณว่าค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน แต่หากยังแข็งต่อเนื่อง ธปท. อาจเริ่มพิจารณาไม่ขึ้นดอกเบี้ย ท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ลดลงและเศรษฐกิจอาจเริ่มชะลอลงตามการส่งออก

โดยในปัจจุบัน แม้ตัวเลขการบริโภคโดยรวม รวมถึงตัวเลขดัชนีภาคบริการต่าง ๆ ของไทยจะยังไปได้ต่อเนื่องท่ามกลางการเปิดประเทศ แต่มีสัญญาณน่ากังวลในฝั่งของตัวเลขภาคธนาคาร

โดยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น (หรือ Stage 2) ของสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บ่งชี้ถึงรายได้ของคนชั้นกลางที่มีปัญหาตามค่าครองชีพที่เพิ่มมากขึ้น 

ในระยะยาว ผู้เขียนมองว่าความมีเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าและลงทุนจากต่างชาติมาก ขณะที่เงินเฟ้อเป็นประเด็นด้านอุปทานที่ควบคุมยาก ดังนั้น การเริ่มพิจารณาเปลี่ยนนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนอาจน่าสนใจ

2. ความผันผวนทางการเงินโลกที่มีมากขึ้น และความเสี่ยงตลาดเงินตลาดทุนที่จะกระทบต่อสถาบันการเงินไทย

ในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐและยุโรปจะถึงจุดสูงสุด จะกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนในประเทศเจริญแล้วมากขึ้น ท่ามกลางการก่อหนี้ที่สูงขึ้น (ภาคเอกชนสหรัฐออกหุ้นกู้คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 80% GDP)

ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจที่ชะลอลงจะทำให้รายได้เข้าสู่บริษัทเหล่านั้นน้อยลง ทำให้บริษัทเหล่านั้นอาจล้มละลาย และเป็นผลกระทบลูกโซ่ต่อตลาดการเงินในประเทศเจริญแล้ว โดยปัจจุบันนี้ ในสหรัฐเอง ธุรกิจเริ่มมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้และล้มละลายมากขึ้น 

ปัญหาเร่งด่วนของเศรษฐกิจไทยและแนวทางแก้ไข | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ภาพเหล่านั้นอาจทำให้เกิด Contagion effect ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินไทย ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้น และอาจทำให้สถาบันการเงินในไทยมีปัญหา

นอกจากนั้น เป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยพันธบัตรที่อยู่ระดับสูงและอาจสูงขึ้นอีก จะกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหุ้นกู้ของภาคเอกชนไทย ทำให้เกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ โดยปัจจุบัน ก็เริ่มเห็นการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนไทยบ้างแล้ว 

แนวทางแก้ไข: ผู้เขียนมองว่าทางการไทย อาจเริ่มทำนโยบายที่ Proactive โดยให้สถาบันการเงิน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุน ทำ Stress test ในรูปแบบเดียวกับที่ภาคธนาคารทำ เพื่อให้ได้ทราบว่ามีการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่

3. นโยบายประชานิยมที่จะเข้ามามากขึ้น ท่ามกลางสถานะทางการคลังที่เปราะบางมากขึ้น

ในปัจจุบัน เข้าสู่ช่วงใกล้การเลือกตั้งมากขึ้น หลายพรรคการเมืองเริ่มชูนโยบายในการหาเสียงมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนโยบายเชิงประชานิยมทั้งสิ้น

บางนโยบายก็จะทำให้ภาระทางการคลังของไทยเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสถานะการคลังที่แย่ลงในปัจจุบัน เนื่องจากต้องนำงบประมาณมาสนับสนุนมาตรการภาครัฐต่าง ๆ เช่น มาตรการเราไม่ทิ้งกัน และ ม.33 เรารักกัน นอกจากนั้น การสนับสนุนด้านพลังงาน เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ทำให้การจัดเก็บรายได้ภาครัฐลดลงไปด้วย

การที่ภาครัฐมีรายได้ที่ลดลง รวมถึงมีรายจ่ายที่มากขึ้น ทำให้รัฐบาลทำการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจน้อยลงอยู่แล้ว โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่จำเป็นต่อการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

โดยหากพิจารณาจากงบลงทุนในปีงบประมาณ 2565 พบว่าหดตัวถึง 2.8% (โดยไตรมาส 4 หดตัวถึง 17.5%) และทำให้รายจ่ายรวมหดตัว 2.6% และเป็นส่วนสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา

ปัญหาเร่งด่วนของเศรษฐกิจไทยและแนวทางแก้ไข | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
 
และหากมีมาตรการประชานิยมมากขึ้น จะทำให้เหลืองบประมาณมาเพื่อผลักดันรายจ่ายลงทุนน้อยลงไปอีก ซึ่งจะกระทบต่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

แนวทางแก้ไข : มองว่าการบริหารจัดการด้านการคลัง ต้องเพิ่มความรัดกุมในการใช้กำกับดูแลวินัยการคลังมากขึ้น เพราะนอกจากในระยะต่อไป รายจ่ายด้านงบประมาณจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาวะสังคมสูงวัย ที่ทำให้รายจ่ายสวัสดิการประชาชนจำเป็นต้องเพิ่มขึ้น

ขณะที่รายได้จากภาษีมีแนวโน้มลดลง ทั้งจากเศรษฐกิจที่ชะลอลง และจากการเปิดเสรีการค้าที่ทำให้รายได้จากกรมศุลกากรลดลง

นอกจากนั้นภาระจากนโยบายกึ่งการคลัง เช่น การค้ำประกันราคาสินค้าเกษตร รวมถึงรายจ่ายเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจที่เผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ เช่น วิกฤต Covid ทำให้เหลือเงินไปใช้ในรายจ่ายลงทุนลดลง 

เหล่านี้คือบางส่วนของปัญหาด้านเศรษฐกิจเร่งด่วนและแนวทางแก้ไขของไทย สำหรับปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างนั้น หากมีโอกาสจะขอนำเสนอในโอกาสถัดไป.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่

คอลัมน์ : Global Vision  

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ฝ่ายวิจัยการลงทุน 

บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด

[email protected]