ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งหนัก หลังเผยรายงานจ้างงาน-ดัชนีภาคบริการสหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งหนัก หลังเผยรายงานจ้างงาน-ดัชนีภาคบริการสหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก ขณะที่นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมทั้งดัชนีภาคบริการของสหรัฐ บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

เมื่อเวลา 23.06 น.ตามเวลาไทยของวันศุกร์(6ม.ค.) ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของ ค่าเงินดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.67% สู่ระดับ 104.34 ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่า 0.73% สู่ระดับ 1.06 เทียบยูโร และร่วงลง 0.69% สู่ระดับ 132.48 เยน

ทั้งนี้ สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสูงกว่าคาดในวันนี้ แต่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ได้ออกมาต่ำกว่าคาด บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ขณะเดียวกัน สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐหดตัวครั้งแรกรอบกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้ ISM เปิดเผยว่า ดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ

นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการประชุมนโยบายการเงินนัดแรกของเฟดในปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยรายงานจ้างงานนอกภาคเกษตรและดัชนีภาคบริการในวันนี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 75.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. และให้น้ำหนักเพียง 24.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง

อัตราการว่างงาน ลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%

กระทรวงแรงงานสหรัฐ ยังปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง โดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน โดยชะลอตัวจากระดับ 0.6% ในเดือนพ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4%

เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0%

ส่วน ISM เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 49.6 ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 56.5 ในเดือนพ.ย.

ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การหดตัวของภาคบริการ โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563

ดัชนีภาคบริการของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่

ส่วนดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่