กองทุนประกันฯ วอนรัฐอัดเงินช่วย ยังแบกหนี้เคลมโควิดค้างจ่ายแตะ 5หมื่นล้าน

กองทุนประกันฯ วอนรัฐอัดเงินช่วย ยังแบกหนี้เคลมโควิดค้างจ่ายแตะ 5หมื่นล้าน

“กองทุนประกันวินาศภัย” เผยยังค้างชำระหนี้เคลมโควิด 4 บริษัทประกันปิดกิจการอีก 5.2 หมื่นล้าน กว่า 6.5 แสนคำขอ จากปี 65 ยังชำระหนี้แค่ “พันล้าน” 1.3 หมื่นคำขอ พร้อมปรับระบบเร่งจ่ายหนี้ปี 66 พิจารณา 1 แสนคำขอ เตรียมเงิน 5-6 พันล้าน ยันยังรับมือได้

ในปี 2565 กองทุนประกันวินาศภัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ 4 บริษัทประกันวินาศภัย คือ บมจ.เอเชียประกันภัย บมจ.เดอะวันประกันภัย  บมจ.ไทยประกันภัย และ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย 

โดยคำทวงหนี้ส่วนใหญ่จะเป็น กรมธรรม์โควิด เจอ จ่าย จบ” มีจำนวนคำทวงหนี้ราว 700,000 คำขอ แบ่งเป็น บมจ. เอเชียประกันภัย 160,000 คำขอ, บมจ.เดอะวันประกันภัย160,000 คำขอ, บมจ.ไทยประกันภัย 80,000 คำขอ และ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย 300,000 คำขอ คิดเป็นยอดเงินขอรับชำระหนี้กว่า 60,000 ล้านบาท 

 ที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้เร่งดำเนินการพิจารณาคำทวงหนี้และจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นประกันภัยโควิด กองทุนฯ จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขอเชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจ RT-PCR

กองทุนประกันฯ วอนรัฐอัดเงินช่วย ยังแบกหนี้เคลมโควิดค้างจ่ายแตะ 5หมื่นล้าน

สำหรับผลดำเนินงานของกองทุนฯ ในปี 2565 นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า กองทุนฯ สามารถพิจารณาคำทวงหนี้ได้ถึง 27,792 คำขอ เป็นเงินอนุมัติจ่ายกว่า 2,130 ล้านบาท และจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ที่ยืนยันสิบทธิรับเงินแล้ว 13,382 คำขอ เป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท 

 “จะเห็นได้ว่ายังมีคำทวงหนี้ที่ยังไม่มายืนยันสิทธิเพื่อขอรับเงินอีก 14,400 คำขอ อาจเกิดปัญหาการจัดส่งเอกสารต่างๆ และเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กองทุนฯ ได้สร้างระบและประสานความร่วมมือกับสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ  ช่วยเพิ่มความสะดวกรับคำยืนยันสิทธิรับเงินให้แก่ประชาชน จ่ายภายใน 60 วัน เริ่มแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้”  

นายชนะพล กล่าวว่า ดังนั้นในปี 2565 กองทุนฯ ยังมีคำทวงหนี้คงค้างอยู่ 651,000 คำขอ เป็นยอดขอชำระหนี้กว่า 51,100 ล้านบาท

ขณะเดียวกันกองทุนฯ ได้วางแผนให้มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นไว้สำหรับการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้เตรียมเงินเพื่อการจ่ายเจ้าหนี้ดังกล่าวไว้แล้วประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท

มาจาก 3 ส่วน คือ 1. ทรัพย์สินสภาพคล่องของกองทุนฯ ที่มีอยู่ 5,000 ล้านบาท 2.เสนอเพิ่มอัตราเงินนำส่งตามมาตรา 80/3 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยจากเดิมที่บริษัทประกันวินาศภัยนำส่งเข้ากองทุนฯ อัตราปีละ 0.25 % จากเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ เพิ่มเป็น 0.5% ซึ่งจะเท่ากับอัตราที่กฎหมายกำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ คปภ. ซึ่งกองทุนฯ จะมีรายได้เพิ่มเป็น 1,300 ล้านบาท จาก 650 ล้านบาทในปีนี้  และ 3. มีเงินค้างจ่ายเจ้าหนี้ในปี 2565 ยังเหลืออยู่อีก 1,000 ล้านบาท

สำหรับเม็ดเงินดังกล่าวยืนยันว่า เพียงพอรองรับกับการที่กองทุนฯ จะเร่งเยียวยาประชาชน ได้ตั้งเป้าการพิจารณาคำทวงหนี้ในปี 2566 ไว้ที่ 80,000-100,000 คำขอ เพิ่มจากปีนี้ทำได้ 40,000-50,000 คำขอ 

นอกจากนี้ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคำทวงหนี้ เพื่อเร่งและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความรับรู้แก่ประชาชนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม กองทุนฯ ได้เตรียมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อรองรับการยื่น คำยืนยันสิทธิรับเงินผ่านระบบคุ้มครองสิทธิออนไลน์ เพื่อลดระยะเวลา และลดการใช้ทรัพยากรกระดาษผ่านแอปพลิเคชัน LINE 

“กองทุนฯ ได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการในปี 2566 คาดประชาชนจะได้รับข่าวสารของกองทุนฯ อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเข้าใจกระบวนการทำงานของกองทุนฯ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การยืนยันสิทธิเพื่อขอรับเงินต่อกองทุนฯ เพิ่มขึ้น และลดระยะเวลาในกระบวนการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้”            

นายชนะพล กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าแผนเสนอขอวงเงินกู้จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) นั้น กองทุนฯ ได้เลื่อนเสนอจากปลายปีนี้ เป็นช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.2566 เนื่องจากพิจารณาแล้วว่ากองทุนฯ ยังมีสภาพคล่องเพียงพอจ่ายหนี้ในปี 2566 ได้ตามแผน  แต่ในปี 2567 อาจเริ่มมีผลกระทบ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดเฉพาะกิจ ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง กฤษฎีกา อัยการ กระทรวงการคลัง สบน. และกองทุนฯ ร่วมกันพิจารณาหาแหล่งที่มาของรายได้เข้ากองทุนฯ เพิ่มเติม 

ไม่ว่าจะเป็น เม็ดเงินจากระบบอุตสาหกรรมประกันภัย เงินกู้สถาบันการเงินดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้มองว่า ค่อนข้างยากลำบากในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ดังนั้นเห็นว่า ยังมีความจำเป็นภาครัฐสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือ เช่น การช่วยเหลือในรูปแบบเดียวกับกองทุนน้ำมันแห่งชาติ  คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพิจารณาอย่างน้อย 6 เดือน