เอกชนหนุน ก.ล.ต.กำกับลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลใกล้ชิด

เอกชนหนุน ก.ล.ต.กำกับลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลใกล้ชิด

ในหัวข้อเสวนาบทบาทตลาดทุนไทยท่ามกลางโลกยุคใหม่ ในงาน SEC CAPITAL2022 MARKET SYMPOSIUM ผู้ร่วมเสวนามองว่า การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด จะช่วยพัฒนาการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และผลักดันให้เติบโตควบคู่กับสินทรัพย์ประเภทอื่น มองปีหน้าตลาดทุนผันผวนแต่เห็นโอกาสสร้างกำไร

นายพรชัย ชุนหจินดา กรรมการในคณะกรรมการสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวว่า ปัจจัยที่เข้ามากระทบภาพรวมเศรษฐกิจ ได้ทำให้เกิดความซบเซาขึ้นในตลาดทุนทั้งตลาดแรก และตลาดรอง โดยช่วงก่อนหน้านี้ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 8-9 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อวัน แม้จะมีจำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นมาตลอด ปัจจุบันมีถึง 3.3 ล้านบัญชี แต่บัญชีที่มีการ Active จริงๆ มีราว 5 แสนบัญชีเท่านั้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกองทุนรวมก็ได้รับผลกระทบด้วย โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิก็ปรับลดลงต่ำปีก่อนหน้า

 

ในส่วนของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ซบเซาลงมากเช่นเดียวกันจากข่าวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคริปโทเคอร์เรนซีและexchange หลายแห่ง จากที่เคยมีมูลค่าการซื้อขายเดือนละหลายแสนล้านบาท ในปลายปี 2564 ปัจจุบันเหลือแค่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา แต่โดยภาพรวมถือว่า ตลาดทุนไทยสามารถประคองตัวผ่านบททดสอบที่หนักหน่วงช่วงนี้ได้ดี

 

สำหรับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น แนวคิดการกำกับดูแลก่อนหน้านี้คือ เพื่อส่งเสริมการลงทุน โดยไม่มีการปิดกั้นนักลงทุนรายย่อย ทำให้การขยายตัวค่อนข้างเฟื่องฟู แต่เมื่อประกาศใช้กฎหมายระยะหนึ่ง ก็จะได้ต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ชัดเจน และสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง โดยการปรับปรุงจะทำภายใต้ความร่วมมือหลายฝ่าย เพื่อให้มีความรอบคอบมากที่สุด ฉะนั้น โดยหลักการแล้ว การพัฒนาสินทรัพย์ต่างๆ จะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ซึ่งเราจะให้น้ำหนักกับเรื่องความมั่นคงปลอดภัย การบริหารความเสี่ยง และการคุ้มครองนักลงทุน

ทั้งนี้ ปัจจุบันดิจิทัลแอทเซส ขยายตัวมาก แต่ในช่วงกลางปีเกิดปัญหาหลายด้านทำให้สั่นคลอนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้เกิดคำถามเรื่องความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า ตลาดสินทรัพย์ดังกล่าวจะหดตัวลง โดยเฉพาะตัวหลัก เช่น บิตคอยน์ แต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“ที่น่าสนใจคือ บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลขยายตัวเร็วมากในช่วงไม่กี่ปี ปัจจุบันมีถึง 2.9 ล้านบัญชี แต่ Active ประมาณ 2 แสนบัญชี ส่วนมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ช่วงเดือนพ.ย.ปีก่อนอยู่ที่ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท ก็จะเห็นความซบเซาของตลาด โดยที่ 98% ของ 2 แสนบัญชีดังกล่าว เป็นบุคคลธรรมดา ดังนั้น จะเห็นภาพว่า ลดลงมาก ซึ่งมองว่า การลงทุนดังกล่าวอยู่ในฤดู winter ซึ่งยังไม่ทราบว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป ในมุมของ ก.ล.ต.ก็ยังหนุนให้ระบบนิเวศน์ยืดหยุ่นเอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไป”

“กอบศักดิ์”ชี้ปีนี้มรสุมแห่งการลงทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยกล่าวว่า จากการพบปะนักลงทุนระดับโลกพบว่า ปีนี้ เป็นปีที่เรียกว่า มรสุมสำหรับการลงทุนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเป็นมรสุมที่กระทบทุกสินทรัพย์ที่มี เมื่อนักลงทุนไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ก็ทำให้เกิดความเสียหาย ปั่นป่วน โดยคนในตลาดก็มองไม่ทะลุว่า จริงๆแล้วเกิดอะไรขึ้น แต่โชคดีหุ้นไทยถือว่า ยังดี

ทั้งนี้ การที่นักลงทุนเจอกับมรสุมการลงทุน เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่กดดัน โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับสูงในทั่วโลกก็กดดันให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงหลายครั้งติดต่อกัน เกิดความผันผวนในตลาดกระทบทุกสินทรัพย์ที่มี นอกจากนี้ ยังมีกรณีของคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งมีปัญหาในการบริหารจัดการเงิน ไม่มีคนกำกับดูแล เป็นช่องโหว่ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมา ก็เกิดความ Panic เกิดการถอนเงิน แบงก์รันในตลาดเงินคริปโทเคอร์เรนซี ฉะนั้น ปีนี้ใครผ่านได้ถือว่าเก่ง

ดิจิทัลแอทเซสอยู่ช่วงทดสอบใครคือตัวจริง

เขาประเมินว่า คิดว่า ดิจิทัลแอทเซสในระยะยาวจะกลับมาอีก และช่วงนี้ เป็นช่วงของการทดสอบว่า ใครคือตัวจริง ใครที่ไม่ใช่ตัวจริง เพราะบางอย่างเรียกว่า stable cion แต่ไม่ stable บางอย่างเรียกว่า exchange แต่ทำตัวไม่เหมือน exchange โดยเอาเงินของนักลงทุนไปลงทุน ซึ่งจะต้องทำหน้าที่เพียงถือเงินไว้เฉยๆ

เขากล่าวว่า ช่วงนี้ เป็นช่วงที่ท้าทาย ทุกสินทรัพย์จะมีช่วงเวลาดังกล่าวหรือเรียกว่า winter ซึ่งจะทดสอบว่า สินทรัพย์ใดแข็งแรง เชื่อว่า เทคโนโลยีแอทเซสดังกล่าวจะกลับมา อย่างไรก็ดี ที่ขาดอยู่คือ เรื่องของความเชื่อมั่น ซึ่งคือ หัวใจ ยกตัวอย่าง การฝากเงิน ทำไมถึงมีการฝากเงิน เพราะนักลงทุนเชื่อมั่นว่า เมื่อมาถอนเงินแล้วจะได้รับเงินคืน ฉะนั้น ในส่วนนี้ บทเรียนที่ได้คือ ต้องกำกับอย่างใกล้ชิด

แนะแก้กฎหมายกำกับใกล้ชิด

“ในช่วงที่ผ่านมา มีคนบอกว่า ถ้าเป็นเรื่องดิจิทัลไม่ต้องกำกับ ถ้ากำกับจะเป็นการทำร้าย innovation แต่ความจริงแล้ว ถ้าย้อนกลับไปดู การกำกับใกล้ชิดจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น เป็นการสร้างฐานที่มั่นคงและมีคุณภาพ เมื่อมีความเชื่อมั่นแล้ว สินทรัพย์เหล่านี้จะเดินได้นาน และจะอยู่กับสินทรัพย์ปกติ ดังนั้น เราน่าจะใช้บทเรียนใน 1 ปีที่ผ่านมาว่า อย่างไรแล้วดิจิทัลก็อยู่ต่อ แต่ว่า รอบนี้ เราคงต้องกำกับดูแลไม่ให้เอาเงินประชาชนไปใช้ ไม่เกิดเกิดเรื่องเหมือนในช่วงที่ผ่านมา เพราะไม่มีใครกำกับที่ชัดเจน”

พัฒนาตลาดทุนให้คนตัวเล็กเข้าถึง

เขากล่าวถึงบทบาทตลาดทุนในระยะต่อไปด้วยว่า ตลาดเงินตลาดทุนจะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และคิดว่า แบงก์จะจำกัดลง ฉะนั้น ตลาดเงินตลาดทุนจะสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น โดยขณะนี้ มูลค่าตลาดเทียบจีดีพีถือว่า ปรับตัวขึ้นมาก ขณะเดียวกัน คิดว่า สิ่งที่น่าสนใจ 4.0 กำลังทรานฟอร์มตลาดทุนไปอีกระดับหนึ่ง โดยฐานข้อมูลที่มี จะทำให้สิ่งที่ไม่มีในอดีตเป็นไปได้ เช่น คนที่ขอสินเชื่อจาก alternative system ซึ่งในอนาคตเราตั้งใจที่จะทำให้ตลาดทุนเพื่อทุกคน หรือ capital for all เพราะหลายคนรู้สึกว่า ตลาดทุนขับเคลื่อนเฉพาะคนรวย แต่คนข้างล่างจะได้ประโยชน์อะไร นี่คือ คำถาม ก็มีโครงการที่จะทำ รวมถึง อยากทำเครดิตสกอร์ริ่งเพื่อหนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น

เขายังมองว่า โอกาสข้างหน้าจะเป็นโอกาสที่ดี โดยไม่นับสินทรัพย์ตัวใหม่ๆ เพราะทุกวันนี้ตลาดหุ้นในตลาดโลกผันผวนตลอดเวลา เพราะเขารู้ว่า เมื่อตลาดลงมากๆ ก็จะมีการปรับขึ้นแรง ฉะนั้น จึงอยากบอกว่า ปี 65 อาจเป็นปีผันผวน แต่ก็จะเป็นปีที่มีโอกาส แต่ขอให้ถนอมตัวอย่าทุ่มเงินไปหมด จะมีสินทรัพย์ดีๆที่อยากได้มานาน สามารถเข้าซื้อได้ ส่วนโอกาสที่เป็นดิจิทัลแอทเซสก็จะกลับมาได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยที่จะมีความเสี่ยงคือ ปัญหาของประเทศเกิดใหม่ ก็จะเป็นปีที่บางประเทศจะลำบาก และท้าทายมาถึงไทย

ชี้ปัญหาเศรษฐกิจยังกดดันการลงทุน

ด้านนางกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)กล่าวว่า ในมุมของนักลงทุน และผู้ประกอบการต้องระมัดระวังตัวมากๆ ในอีก 1 ปีข้างหน้า เพราะโลกยังผันผวนอีกมาก ทั้งปัญหาดอกเบี้ย เงินเฟ้อที่ขึ้นสูง อัตราแลกเปลี่ยนที่จะอ่อนลงเมื่อเทียบดอลลาร์ และยังมีปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศใหญ่ๆ ซึ่งเราไม่รู้จะจัดการปัญหากันอย่างไร ส่งผลกระทบแน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก และไทย ฉะนั้น ความไม่แน่นอนจะมีเยอะมากในโลกเศรษฐกิจในอนาคต

นางสาวกิริฎา ยังกล่าวว่า เห็นด้วยสำหรับการลงทุนต้องมีข้อมูล และความรู้ที่ครบถ้วน แต่ต้องเข้าใจว่า ปัจจุบันมีข้อมูลมากมาย ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่า ใครพูดจริงไม่จริง ฉะนั้น บทบาทการกำกับดูแลจึงสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น และคุณภาพช่วยให้คนไม่ถูกหลอกได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า เรื่องดิจิทัลแอทเซสไม่หายไปไหน เนื่องจาก ประโยชน์ยังมี โดยเฉพาะการช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้เข้ามาระดมทุนโดยต้นทุนที่ต่ำกว่าการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือการออกหุ้นกู้ แต่ในฟากของผู้ลงทุนก็ต้องมั่นใจว่า บริษัทที่มาระดมทุนไว้ใจได้หรือไม่ด้วย ฉะนั้น จึงเป็นบทบาทของผู้กำกับที่จะเข้ามาช่วย

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์