คลังเร่งปฏิรูปรายได้แก้หนี้เงินกู้โควิด

คลังเร่งปฏิรูปรายได้แก้หนี้เงินกู้โควิด

คลังเผยรัฐบาลอยู่ระหว่างปฏิรูปรายได้เพื่อนำมาชำระหนี้เงินกู้ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมาและปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการหนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวบรรยายพิเศษ “ผู้นำในบริบทของWealth of Wisdom” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจและฐานเศรษฐกิจว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้เม็ดเงินจำนวนมากเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ วงเงินรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ในส่วนของประชาชนเองที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ก็ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น 

เขากล่าวว่า เมื่อเป็นหนี้แล้วก็ต้องมีการชำระ ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้นั้น ส่วนของภาครัฐเอง ก็มีเรื่องรายได้มาชำระหนี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง แต่หนี้ที่พอกพูนขึ้นมาขึ้นอยู่กับว่าความสามารถในการที่จะหารายได้มาชำระหนี้ได้เพียงใด ซึ่งจะนำมาสู่การปฏิรูปรายได้ของภาครัฐ

"หากเรายืมเงินตัวเองมาใช้เรื่อยๆ หมายความว่า ไม่มีดีมานด์ ไม่มีสินค้า และไปนำเม็ดเงินใหม่จากข้างนอกเข้ามา ก็จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และสกุลเงินของเราก็ไม่มีพาวเวอร์เหมือนกับสกุลเงินดอลลาร์ ไม่มีใครเชื่อถือสกุลเงินของเรา แต่ดอลลาร์พิมพ์ออกมาเท่าไหร่ก็ยังมีความน่าเชื่อถืออยู่ ฉะนั้นขีดความสามารถในการชำระหนี้จึงสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐบาล หรือระดับประชาชน"

ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ก็เป็นมาตรการที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ครัวเรือน และประชาชน ในระดับรัฐบาลก็เช่นกัน ซึ่งหนี้ระยะสั้นที่กู้ออกมาก็สามารถปรับเป็นหนี้ระยะยาวได้ ซึ่งส่วนใดที่ครบกำหนดก็มีการยืดออกไป และหาแหล่งเงินที่ดอกเบี้ยถูก ลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน คือ สกุลที่มีเสถียรภาพก็เปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งเป็นหลักการที่รัฐบริหาร