สรรพากรเผยยอดจดแวตธุรกิจอีเซอร์วิสพุ่งกว่า140ราย

สรรพากรเผยยอดจดแวตธุรกิจอีเซอร์วิสพุ่งกว่า140ราย

สรรพากรเผยยอดจดแวตธุรกิจอีเซอร์วิสจากแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศทยอยเพิ่มขึ้น ล่าสุดอยู่ที่กว่า 140 ราย จากกว่า 90 รายในระยะแรก ส่วนภาษีที่จัดเก็บได้จะเฉลี่ยที่ 500-600 ล้านบาทต่อเดือน

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยความคืบหน้าการจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเซอร์วิส ว่า ขณะนี้มีแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจำนวนกว่า 140 ราย เพิ่มขึ้นจากในระยะแรกที่ผู้ให้บริการดังกล่าวมาจดทะเบียนเพียงกว่า 90 รายเท่านั้น ดังนั้น จึงถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่ผู้ให้บริการดังกล่าวได้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง สำหรับยอดจัดเก็บภาษีนั้น โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่เดือนละ 500-600 ล้านบาท 

ทั้งนี้ กรมสรรพากร ได้บังคับใช้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ (VAT for Electronic Service : VES) ที่มีผลบังคับกับแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริการโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) บริการขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) บริการแพลตฟอร์มสมัครสมาชิก เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ (Subscription) บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง เช่น บริการขนส่ง (Peer to Peer) และบริการแพลตฟอร์มจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทาง (Online Travel Agency) ที่ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย (ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในประเทศไทย 

สำหรับภาษีอีเซอร์วิส ไม่ใช่ภาษีประเภทใหม่ แต่คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ที่จัดเก็บจากการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Service)จากต่างประเทศ เนื่องจาก เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลที่ทำให้การใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นได้อย่างไร้พรมแดน โดยผู้ใช้ในประเทศไทยสามารถเข้าถึงบริการจากต่างประเทศผ่านอินเตอร์เน็ตได้โดยง่าย สะดวกและรวดเร็ว

แต่เดิมกฎหมายกำหนดให้ผู้ใช้บริการในไทยทั้งผู้ประกอบการจดแวตและไม่จดแวต เมื่อจ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีแวตจากการใช้บริการจากต่างประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ดี ประชาขนทั่วไปซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดแวต มีการนำส่งภาษีดังกล่าวในส่วนนี้อย่างจำกัด

ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นจึงสร้างความไม่เป็นธรรมในภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากในประเทศและต่างประเทศและสร้างความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยที่มีต้นทุนของภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ไม่มี

กฎหมายอีเซอร์วิส จึงถูกเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการหรือแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีรายรับจากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดแวตในไทยเกินกว่า 1.8 ล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีแวตและมีหน้าที่นำส่งภาษีดังกล่าวจากการให้บริการอีเซอร์วิสแทนผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดแวต

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีรายได้ในเกณฑ์ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องมาจดทะเบียนภาษีแวตในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564