เช็กลิสต์ "รายได้" 10 ประเภท ที่ลูกจ้างได้รับ แต่ยกเว้นไม่ต้อง "เสียภาษี"

เช็กลิสต์ "รายได้" 10 ประเภท ที่ลูกจ้างได้รับ แต่ยกเว้นไม่ต้อง "เสียภาษี"

แม้การ "ยื่นภาษี" เป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ แต่ไม่ใช่ทุกรายได้ จะต้องเสียภาษี ชวนเปิดข้อยกเว้น "รายได้" 10 ประเภท ที่เมื่อลูกจ้างได้รับจากนายจ้างมาแล้ว ได้รับยกเว้นไม่ต้อง "เสียภาษี"

ตามหลักการเรื่องของ “ภาษี” สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นพนักงาน ลูกจ้างประจำ เงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(1) เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรก ของปีภาษีนั้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ตลอดจนยังมีรายได้ที่พนักงาน ลูกจ้างจะได้รับยกเว้นภาษีอยู่อีกหลายกรณีที่สำคัญๆ ตามการยกเว้นมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร การยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 การยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฉบับต่างๆ

โดยเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี มีดังนี้

1.ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะ

ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงานให้ ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะ ในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนเองและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น

2.ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้

ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตราค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง

3.เงินค่าเดินทางซึ่งนายจ้างให้ลูกจ้าง

เงินค่าเดินทางซึ่งนายจ้างให้ลูกจ้าง เฉพาะส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายทั้งหมดโดยจำเป็นเพื่อการเดินทางจากต่างถิ่นในการเข้ารับงานเป็นครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อยกเว้นนี้ไม่ให้รวมถึงเงินค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการกลับถิ่นเดิม และในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิมภายใน 365 วัน นับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง

4.นายจ้างชำระเงินบำเหน็จ เงินค่าธรรมเนียม เงินค่านายหน้า หรือเงินโบนัสส่วนที่เป็นค่าจ้างแรงงานที่ได้ทำในเวลาก่อนใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้

ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญากันโดยสุจริตก่อนใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้พุทธศักราช 2475 มีข้อกำหนดว่า นายจ้างจะชำระเงินบำเหน็จ เงินค่าธรรมเนียม เงินค่านายหน้า หรือเงินโบนัสส่วนที่เป็นค่าจ้างแรงงานอันได้ทำในเวลาก่อนใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พุทธศักราช 2475 นั้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

5.เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้

เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษาพยาบาลสำหรับ

5.1 ลูกจ้าง สามี ภรรยา บุพการีหรือสืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย

5.2 ลูกจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว โดยเงินจำนวนดังกล่าวได้จ่ายไปทั้งหมดแล้ว

6.เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบ

เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบ ซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในจำนวนคนละไม่เกิน 2 ชุดต่อปี และเสื้อนอกในจำนวนคนละไม่เกิน 1 ตัวต่อปี

- “เครื่องแบบ” หมายความว่า เครื่องแต่งกายรวมทั้งสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่กำหนดให้แต่งเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แต่ไม่รวมถึงรองเท้าที่อาจใช้งานได้ทั่วไป ชุดชั้นใน หรือสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยโลหะ หรืออัญมณีที่มีค่า เช่น เงิน ทองคำ ทับทิม หยก

- “เสื้อนอก” หมายความรวมถึง ชุดไทยพระราชทานและเสื้อที่นิยมใช้ในการแต่งกายไปในงานสำคัญต่างๆ

7.เงินได้เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เงินได้เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2551 เป็นต้นไป

8.เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังต่อไปนี้

8.1 เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับ เนื่องจากลูกจ้างออกจากงานเพราะตาย ทุพพลภาพ หรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์

8.2 เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากลูกจ้างออกจากงานก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่เมื่อออกจากงานแล้วได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ ทั้งจำนวนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต่อมาได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากลูกจ้างผู้นั้นตาย ทุพพลภาพ หรืออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

9.ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง

ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายแต่ไม่เกิน 300,000 บาท

10.เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าที่ลูกจ้างได้รับจากการนำบุตรไปอยู่ในความดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็ก

เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าที่ลูกจ้างได้รับจากการนำบุตรชอบด้วยกฎหมายของตน แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมไปอยู่ในความดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่นายจ้างได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการนั้น

ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2554 เป็นต้นไป

สรุป

ดังนั้น เมื่อพนักงาน ลูกจ้างมีรายได้ที่นอกเหนือจากเงินเดือนประจำ ควรเช็กให้ดีก่อนว่าเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่ ซึ่งหากเป็นรายได้ตามกรณีต่างๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ก็ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี เนื่องจากเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ทำให้โอกาสเสียภาษีน้อยลงหรือไม่เสียภาษีเลยหากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท นั่นเอง

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่