‘เงินบาทอ่อนค่า’เปิดตลาดที่ 37.80 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาทอ่อนค่า’เปิดตลาดที่ 37.80 บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้ระวังเงินบาทผันผวนพลิกอ่อนค่า จากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังประธานเฟดยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 37.70-38.00 บ บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.58 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.70-38.00 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทมีโอกาสที่จะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังประธานเฟดยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสอดคล้องกับมุมมองของเราที่ให้ระวังความผันผวนและโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงหลังตลาดรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด

ทั้งนี้ เรามองว่า แม้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่แนวต้านอาจอยู่ในโซน 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทั้งโฟลว์ในฝั่งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมา“ขายสุทธิ” หุ้นและบอนด์ไทยอีกครั้งหรือไม่ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยรุนแรงและต่อเนื่องแบบในช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้าที่เกิดแรงขายบอนด์รุนแรง

เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนักจากโซนแนวต้าน ส่วนในโซนแนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.50-37.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าเป็นระดับที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนสูง โดยในช่วงแรกตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับในเชิงบวกต่อแนวโน้มการชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ได้ระบุในแถลงการผลการประชุม หลังเฟดมีมติขึ้นดอกเบี้ย +0.75% สู่ระดับ3.75%-4.00% ตามคาด อย่างไรก็ดี ตลาดพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทันทีที่ประธานเฟดได้ย้ำจุดยืนการต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อสูง ซึ่งสะท้อนว่าการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นยังไม่จบ แม้ว่าเฟดอาจเริ่มพิจารณาชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดๆไป และยังเร็วเกินไปที่ตลาดจะคาดการณ์ว่าเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ในเร็วนี้ นอกจากนี้ ประธานเฟดยังได้ปรับลดโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) ซึ่งมุมมองดังกล่าวทั้งแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดและโอกาสเกิดภาพ Soft Landing ที่ลดลง ได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวเป็นพิเศษกับแนวโน้มดอกเบี้ย กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สหรัฐฯ ดิ่งลงหนัก -3.36% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.50%

 

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.29% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น ก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมของเฟด ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจลดความเสี่ยงลงด้วยการขายทำกำไรออกมาทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังกังวลว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจะยังคงมีอยู่ แม้เฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังจากการประชุมเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุดยังแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังไม่ได้ชะลอตัวลงได้เร็ว กดดันให้หุ้นกลุ่มเทคฯ เผชิญแรงขายมากขึ้น อาทิ ASML -1.9% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare อาทิ Novo Nordisk +7.4% หลังบริษัทรายงานผลกำไรที่ดีกว่าคาดและปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรจากยอดขายยารักษาเบาหวาน Ozempic ที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.11% หลังประธานเฟดเน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่าจุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายเฟด หรือ Terminal rate อาจอยู่ที่ระดับ 5.25% หรือสูงกว่า (จาก CME FedWatch Tool) ซึ่งเรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะสั้นและระยะยาวอาจปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง แต่มองว่า ในจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ดังกล่าว จะหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) เพื่อรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักหรือ เข้าสู่ภาวะถดถอย ตามที่ประธานเฟดได้ระบุว่า โอกาสที่เศรษฐกิจจะ soft landing นั้นเริ่มมีน้อยลง (นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินโอกาส 60% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าในช่วงแรก หลังแถลงการณ์ผลการประชุมเฟดสะท้อนโอกาสเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก่อนที่เงินดอลลาร์จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำจุดยืนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงพร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 112 จุด นอกจากนี้แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่หนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ก็ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) พลิกกลับมาปรับตัวลงแรงหลังจากที่ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กลับสู่ระดับ 1,636 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า ราคาทองคำยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงใกล้โซนแนวรับ แต่มองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ(ISM Services PMI) โดยตลาดคาดว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนักมากขึ้น สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะลดลงสู่ระดับ 55.1 จุด กดดันโดยภาวะค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงและผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมา

ในด้านนโยบายการเงิน ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตามอง คือ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า BOE จะเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +75bps สู่ระดับ 3.00% หลังเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่า 10% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตามุมมองของ BOE ต่อการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตหรือโอกาสที่ BOE จะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนผ่านดัชนีPMI ภาคการผลิตและการบริการที่ลดลงต่อเนื่องจนแตะระดับต่ำกว่า 50 จุด พอสมควร (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึงภาวะหดตัว)