อย่าเพิ่งงัดข้อกับ "ดอลลาร์" เมื่อ "เฟด" ยังเร่งขึ้นดอกเบี้ย

อย่าเพิ่งงัดข้อกับ "ดอลลาร์" เมื่อ "เฟด" ยังเร่งขึ้นดอกเบี้ย

เช็คสัญญาณ เฟด ที่มีต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อโดยไม่สนใจแนวโน้มเศรษฐกิจว่ามีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอยู่หรือไม่

ช่วงนี้เงินดอลลาร์ดูจะอ่อนค่าลงมาบ้าง เนื่องจากตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดบางรายเริ่มแสดงความเห็นต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วเกินไป จนเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “แมรี ดาลี” ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเริ่มหารือเกี่ยวกับการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ...ความเห็นดังกล่าวทำให้ดัชนีดาวโจนส์เริ่มทะยานขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง หลังจากที่แข็งค่าต่อเนื่องจนทำสถิติในรอบกว่า 20 ปี

การประชุมเฟด ที่จะรู้ผลในคืนวันนี้ (2 พ.ย.) ไฮไลต์สำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ผลการประชุม เพราะตลาดฟันธงไปเรียบร้อยแล้วว่า เฟด น่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 0.75% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ทำให้ดอกเบี้ย เฟด ขยับขึ้นมาแตะระดับ 3.75-4% 

สิ่งที่ตลาดเฝ้าติดตามจากการประชุมครั้งนี้ คือ สัญญาณที่ เฟด มีต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ โดยไม่สนใจแนวโน้มเศรษฐกิจว่ามีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอยู่หรือไม่ ซึ่งความเห็นเหล่านี้จะสั่นสะเทือนไปยังสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่เฟดบางรายจะเริ่มมองว่า อาจต้องทบทวนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ดูเหมือนตลาดยังไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะล่าสุด "โกลด์แมน แซคส์" เพิ่งปรับมุมมองที่มีต่อดอกเบี้ยเฟด โดยขยับเพิ่มคาดการณ์ความน่าจะเป็นที่ดอกเบี้ยเฟดจะขึ้นมาอยู่ในระดับ 5% ในเดือน มี.ค. 2566 หรือเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 0.25% โดยให้เหตุผลว่า เงินเฟ้อสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นในระดับที่น่ากังวล

นอกจากนี้ยังมีนักวิเคราะห์ระดับโลกอีกหลายราย ที่มองภาพคล้ายกันว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าความแข็งแกร่งของ "เงินดอลลาร์" กำลังจะหมดไป แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเริ่มอ่อนค่าลงจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะยังมีสัญญาณหลายตัวที่บ่งชี้ว่า ดอกเบี้ยสหรัฐมีแนวโน้มที่จะขึ้นต่อเนื่องและเวลานี้ยังดูห่างไกลจากจุดสูงสุด

ยิ่งถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส 3  ซึ่งกลับมาขยายตัวในระดับ 2.6% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ เฟด น่าจะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างต่อเนื่อง

ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามของธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ ที่จะชะลอการอ่อนค่าของสกุลเงินตัวเอง ไม่ให้อ่อนค่าเร็วจนเกินไป ด้วยการเข้าไปแทรกแซงตลาดผ่านการเทขายเงินดอลลาร์ที่อยู่ในรูปของทุนสำรองระหว่างประเทศออกมา ซึ่งผลที่ได้ก็ทำได้เพียงชะลอการอ่อนค่าลงมาวูบเดียวเท่านั้น แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้น ค่าเงินก็กลับมาอ่อนค่าลงเช่นเดิม

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำเตือนระดับโลกว่า Don’t fight the Fed หรือ อย่าคิดสู้กับเฟด! โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เฟดตั้งหน้าตั้งตาคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้าจะสิ้นสุดลงที่ใด