ธปท.คาดเศรษฐกิจไตรมาส4 พีค ท่องเที่ยวหนุนโค้งท้าย

ธปท.คาดเศรษฐกิจไตรมาส4 พีค ท่องเที่ยวหนุนโค้งท้าย

ธปท. คาดเศรษฐกิจไทย ไตรมาส4 ฟื้นต่อ หลังท่องเที่ยวหนุนโค้งท้าย ลุ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยกลับมาบวกได้ในสิ้นปี


      ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเดือนก.ย.กลับมาเกินดุลครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากดุลการค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาพเศรษฐกิจในเดือนดังกล่าวอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งเป็นผลจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น 

      “ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเดือนก.ย. กลับมาเกินดุลได้เล็กน้อยที่ 600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากดุลการค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ไตรมาส 3 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอยู่ที่ 7 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากไตรมาสก่อน ที่ขาดดุลฯที่ 8.1พันล้านดอลลาร์ และตั้งแต่ต้นปี ถึงก.ย. ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสะสมอยู่ที่ 17.7 พันล้านดอลลาร์
 

    โดยมองว่า “ดุลบัญชีเดินสะพัด”ที่เริ่มกลับมาเป็นบวกได้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี และมีโอกาสที่จะเห็นดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาบวกได้ในปลายปีนี้ โดยหัวใจสำคัญ คือ “นักท่องเที่ยว” ในช่วง 3เดือนหลังของปีนี้ว่าเป็นอย่างไร

    “การกลับมาบวกของดุลบัญชีเดินสะพัด ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว เป็นสำคัญ ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากน้อยแค่ไหน”
 

     ชญาวดี กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวต่างชาติ”เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการยกเลิกไทยแลนด์พาส ส่งผลให้เดือนก.ย. มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.03 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวใกล้ไทย เช่น มาเลเซีย สิงค์โปร์ หากดูนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงก.ย. เข้ามาแล้ว 5.6 ล้านคน

      “แนวโน้มเดือนต.ค. และระยะต่อไป มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือน ต.ค. มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตาม การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า ด้านอุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัวและ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”

     ในด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นหลัก แม้ส่งออกจะมีทิศทางชะลอตัวจากคู่ค้าหลักที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก

     ส่วนไตรมาส 4 แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ก็ยังเป็นภาพ ที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่องเที่ยว ที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ที่จะเป็นตัวหนุนสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้นได้

 สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ในเดือนก.ย. เช่น ส่งออก ขยายตัว 8.4% โดยปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 8.2% เพิ่มขึ้นตามหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ขณะที่ไตรมาส 3 ส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 6.7%

     ขณะที่การนำเข้าในเดือนก.ย. ขยายตัว 20.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 3/65 ขยายตัว 23.2%

     ในด้านเสถียรภาพต่างประเทศ เช่น เงินบาทเดือนก.ย. ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด

     ส่วนเดือนต.ค. เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง จากการที่นักลงทุน ลดความเสี่ยงในการลงทุน ไปถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงลดลง เช่นดอลลาร์ จากการที่เงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าคาด ทำให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง จนนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจระยะต่อไป อาจได้รับผลกระทบ จากการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ดังนั้นภาพเงินบาทจึงยังอ่อนค่า แต่ยังสอดคล้องกับภูมิภาค และอ่อนค่าใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า

     ส่วนด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.ย. อยู่ที่ 6.41% ปรับลดลงจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยอยู่ที่ 3.12%

    ชญาวดี กล่าวอีกว่า แม้เศรษฐกิจโลกในช่วงหลังจากนี้ไปอาจจะเริ่มชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจไทยขณะนี้เพิ่งจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว เพราะวัฎจักรเศรษฐกิจของไทยแตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลก 

     ดังนั้นเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวร้อนแรงเกินไป เช่นสหรัฐที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างร้อนแรง จนทำให้ธนาคารกลางต้องออกมาใช้ยาแรงในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ทำให้ ธปท.มีความจำเป็นต้องรักษาสมดุลของเศรษฐกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาแรง

      เช่นประเทศอื่นๆ ด้วยการทยอยปรับลดมาตรการที่มีความจำเป็นน้อยลง รวมทั้งทยอยลดมาตรการที่มีการผ่อนคลายในวงกว้าง ที่อาจจะส่งผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจ

     จึงนำมาสู่ การยุติการเปิดรับการขอความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) หลังจากวันที่ 31 ธ.ค.65 เป็นต้นไป ซึ่งคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ กำลังอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบวิธี และขั้นตอนการยุติดำเนินการของกองทุนฯ ต่อไปเนื่องจากความจำเป็นของความช่วยเหลือจากกองทุนปรับลดลงตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ดีขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับปกติ

     “คณะกรรมการต่างๆ มองเห็นว่า ต้องดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ร้อนแรงจนเกินไป จนต้องไปใช้ยาแรงแบบประเทศอื่นๆ และเมื่อไม่ให้ไทยฟื้นแรง ก็ต้องทำให้เศรษฐกิจมีความสมดุล บางอย่างที่เยอะเกินไป มาตรการผ่อนคลายวงกว้าง และสร้างผลข้างเคียงต้องดูแลไม่ให้สร้างผลข้างเคียง อะไรที่ไม่เหมาะกับภาวะก็ต้องลดลง เช่น BSF ออกมาเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้ ที่มีความเสี่ยงสูง จากโควิด-19 เมื่อกลับมาเกือบจะปกติ และเมื่อดูจากตลาดการเงิน ตราสารหนี้ก็ไม่เห็นอะไรที่ผิดปกติ ออกบอนด์ปกติ อัตราผลตอบแทนอาจจะสูงขึ้น แต่เป็นไปตามตลาดโลก และดอกเบี้ยที่ปรับเข้ามา ทุกอย่างเริ่มกลับมาปกติ ปัจจัยเสี่ยงจากโควิด-19 ที่ต้องการความช่วยเหลือจากพ.ร.ก.ก็ต้องปรับ เมื่อเห็นว่าไม่มีความจำเป็นแล้ว”ชญาวดี กล่าว

     นอกจากยกเลิกมาตรการ BSFแล้ว ธปท.ยังยกเลิก เกณฑ์กำกับการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือ LTV ด้วยที่จะสิ้นอายุในสิ้นปีนี้ หลังการผ่อนคลายมาตรการมีความจำเป็นน้อยลง หลังภาคอสังหาฯกลับมาทยอยฟื้นตัวมากขึ้น เหล่านี้ก็เพื่อลดผลข้างเคียงระยะยาว และลดหนี้ครัวเรือนในอนาคต