พิษโควิด 2ปีครึ่ง แบงก์-นอนแบงก์ ขายหนี้เสียพุ่ง 1.37แสนล้าน

พิษโควิด 2ปีครึ่ง แบงก์-นอนแบงก์ ขายหนี้เสียพุ่ง 1.37แสนล้าน

เปิดข้อมูล เครดิตบูโร พบ “แบงก์-นอนแบงก์” ขายหนี้ในช่วง 2 ปีครึ่ง ออกมารวมกว่า 1.37 แสนล้านบาท โดยหนี้ที่ถูกขายมากสุด คือ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เฉพาะครึ่งแรกปี 2565 ยอดรวมเฉียด 4 หมื่นล้านบาท เกือบเท่าทั้งปีของปี 2563

       การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้สร้างปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า ในช่วง 2 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันการเงินได้ขายหนี้เสียออกมารวมแล้วกว่า 1.37 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล

      แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินซึ่งเป็นสมาชิกใน บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลสถิติ​การขายหนี้ที่มียอดค้างชำระเกิน 90 วัน หรือ “หนี้เสีย”​(NPL) แยกตามประเภท สถาบันการเงิน และแยกตามชนิดของสินเชื่อในช่วง 2 ปีครึ่ง ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19​ หรือ ข้อมูลรายงานสถิติการขายบัญชีสินเชื่อรหัสสถานะบัญชี 42 (ตั้งแต่ปี 2563 – ไตรมาส 2ปี2565) พบว่า ในช่วง 2ปีครึ่งที่ผ่านมา มีบัญชีหนี้ที่ถูกขายออกจากระบบสถาบันการเงิน นอนแบงก์ทั้งระบบที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร คิดเป็นมูลหนี้รวมประมาณ 1.37 แสนล้านบาท หรือราว 9.2 แสนบัญชี

     โดยเฉพาะ ครึ่งแรกของปี 2565 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หากเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีหนี้เสียที่ถูกขายออกรวมกว่า 39,994 ล้านบาท เกือบเท่ากับทั้งปีของปี 2563 ที่มีการขายหนี้ออกมาสู่ระบบทั้งสิ้น 40,092 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 2564 มีหนี้เสียจากระบบแบงก์ นอนแบงก์ ถูกขายออกมาสู่ระบบทั้งสิ้นที่ 54,827 ล้านบาท

       ทั้งนี้ หากดูหนี้ที่ถูกโอนขายในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ตามประเภทสมาชิก พบว่า ปี 2563 แบงก์ขายหนี้ออกมาสู่ระบบ 34,559 ล้านบาท ปี 2564 ขายออกรวม50,105 ล้านบาท จากหนี้ทั้งหมดที่ถูกขายออกมาในระบบรวม 56,827 ล้านบาทส่วนครึ่งแรกของปี 2565 แบงก์นำหนี้ออกมาขายรวมแล้วประมาณ 38,678 ล้านบาท

หนี้เครดิตการ์ด-พีโลนขายพุ่ง

   หากเจาะลึกไปดูประเภทสินเชื่อที่ขายออกมาสู่ตลาด ส่วนใหญ่ เป็นหนี้สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล เป็นหลัก

    โดยเฉพาะปี 2565ที่หนี้ส่วนใหญ่ที่นำออกมาขาย โดยมากเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งมีประมาณ 11,628ล้านบาท ถัดมาคือ สินเชื่อบัตรเครดิต ที่ 10,583 ล้านบาท ,สินเชื่อบ้าน 9,050 ล้านบาท

     แหล่งข่าวกล่าวว่า มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิต แม้ว่าทางการจะออกมาตรการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระขั้นต่ำเพียง 3-5% แต่พบว่าสถาบันการเงินยังขายพอร์ตหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตออกมารวมกว่าหมื่นล้านบาท สะท้อนว่าแม้จะอนุญาตให้ผ่อนขั้นต่ำได้แค่ 3-5% แต่ลูกหนี้ก็ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ บ่งชี้ถึงความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนอย่างชัดเจน

     “ตอนนี้ได้แต่หวังว่ามาตรการเชิญชวนให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ที่ออกมาเมื่อปลายเดือนกันยายน​จนถึงพฤศจิกายน​นี้จะช่วยให้ลูกหนี้ที่เริ่มมีรายได้จากการฟื้นตัว​ทางเศรษฐกิจ​กลับมาเป็นหนี้ปกติได้ตามจำนวนที่ตั้งใจไว้”

เกียรตินาคินภัทรจ่อขายหนี้เพิ่มไตรมาส4

    นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ในส่วนการขายหนี้เสียออกมาสู่ระบบยังมีต่อเนื่อง แต่ในไตรมาส 4 คงจะมีไม่มากแล้วเนื่องจากหนี้เสียของแบงก์ถือว่าอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ โดยเฉพาะล่าสุดไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ที่หนี้เสียทรงตัว ที่ระดับ 3% หากเทียบกับช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

     “หนี้เสียแบงก์ในไตรมาส3ที่ผ่านมา ไม่ได้มากนัก เพราะตัวสินเชื่อแบงก์โต ทำให้ตัวเปอร์เซ็นหนี้เสียไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่ได้มาจากการบริหารหนี้เสีย หรือการขายหนี้ออก แต่ไตรมาส 4 ก็มีแผนขายออกบ้างเป็นปกติ แต่ไม่มากนัก เพราะหนี้เสียอยู่ในระดับบริหารจัดการได้”

SAMจ่อซื้อหนี้บริหารกว่าหมื่นล้าน

    นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า หากดูการขายหนี้เสียของทั้งแบงก์ และนอนแบงก์ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ถือว่าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
    โดยมีหนี้เสียที่มีการนำออกมาประมูลผ่านระบบ ในช่วงครึ่งปีแรก กว่า 3หมื่นล้านบาท และคาดครึ่งปีหลังน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือระดับ 7-8 หมื่นล้านบาท หากแยกเฉพาะที่ยื่นหนังสือให้ SAM เข้าประมูลปีนี้ราว 4 หมื่นล้านบาท

     ดังนั้นคาดว่า การซื้อหนี้เสียมาบริหารปีนี้ น่าจะอยู่ที่ระดับกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นหากเทียบกับปีก่อนอีกทั้งหนี้ส่วนใหญ่ที่นำออกมาประมูล เป็นหนี้สินเชื่อเอสเอ็มอี สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อธุรกิจบางส่วน

     ทั้งนี้ปัจจุบันมีหนี้เสียที่อยู่ภายใต้การบริหารของ SAM อยู่ที่ราว 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกันราว 1.5 แสนล้นบาท ที่เหลือเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน

     “หนี้ที่มีออกมาขายปีนี้เยอะก็จริง แต่ก็มีไม่น้อยที่แบงก์ดึงกลับ เพราะมีบางส่วนแบงก์มองว่า เอากลับไปพัฒนาต่อหรือนำกลับไปให้ JVAMC บริษัทก็มี แต่เชื่อว่า โมเดลการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ อาจไม่ได้เห็นมากนัก เพราะบางรายก็มองว่าไม่คุ้ม และบางส่วนต้องการขายหนี้ออกเร็ว”
บสก.จ่อประมูลซื้อหนี้เพิ่ม

    นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า สถานการณ์ขายหนี้เสียของแบงก์ และนอนแบงก์ปีนี้ มีเพิ่มขึ้น แต่มีส่วนที่แบงก์ นอนแบงก์ดึงกลับไปบริหารเองก็มีค่อนข้างมาก เพราะบางส่วนยังไม่มีการตั้งสำรองไม่ครบเต็มจำนวน

     โดยหากดูงานในมือ ที่ BAM อยู่ระหว่างการเข้าประมูลซื้อหนี้เสียมาบริหาร ในช่วงไตรมาสสุดท้ายอยู่ที่ราว 4 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่ามีโอกาสได้อยากมาก

      ทั้งนี้ เป้าหมายการซื้อหนี้เสียมาบริหารปีนี้อยู่ที่ราว 7-8 พันล้านบาท ส่วนหนึ่ง BAM ไม่ได้เร่งซื้อ เพราะในช่วง 4ปีที่ผ่านมา มีการเร่งประมูลหนี้เสียเข้ามาค่อนข้างมาก ปีละ 1หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนเกินที่ซื้อเข้ามาต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีสต็อกที่อยู่ในการบริหารค่อนข้างมาก ดังนั้นเป้าหมายของบริษัทคือ ไม่ใช่การไล่ซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหาร แต่เป้าหมายคือทำอย่างไรให้สามารถบริหารหนี้เสียที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

     “ปีนี้เราไม่ได้ ไปไล่ราคา ทำให้เราเหมือนซื้อน้อย หากเทียบกับ 4 ปีที่ผ่านมาที่เราซื้อตุนไว้มาก ทำให้มีสต็อกเหลือค่อนข้างมา ดังนั้นเป้าหมายของเราคือ การบริหารสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหาร ให้เกิดการระบายออกได้เร็ว ได้กระแสเงินสดกลับมารวดเร็ว”

     สำหรับสินทรัพย์ภายใต้การบริหารปัจจุบัน ของบริษัทล่าสุด มีพอร์ตสินเชื่อที่มีหลักประกันที่ 2แสนล้านบาท และไม่มีหลักประกัน 2แสนล้านบาท”

ขายหนี้เสียทั้งปีกว่าแสนล้าน

     นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ การขายหนี้เสียในปัจจุบัน ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะไตรมาส 4 มีหนังสือยื่นให้บริษัทเข้าประมูลซื้อหนี้แล้ว 6-7หมื่นล้านบาท และคาดว่าทั้งปี จะมีหนี้เสียที่ออกมาขายสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 1แสนล้านบาท  
      ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากความต้องการบริหารหนี้ของธนาคารและนอนแบงก์ หลังจากมาตรการทางการเงินเริ่มทยอยหมดลง

     โดยเป้าหมายของชโย ปีนี้ ตั้งเป้าซื้อหนี้เสียมาบริหารให้ได้ 1-1.5 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่ซื้อหนี้เสียมาบริหารแล้ว 4 พันล้านบาท ดังนั้น การจะไปสู่เป้าหมายคือการเข้าประมูลหนี้ซื้อระดับหมื่นล้านบาทในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท โดยเตรียมงบลงทุนไว้ปีนี้ราว 3พันล้านบาท

     อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีหนี้ภายใต้การบริหารอยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีหนี้ภายใต้การบริหารที่ 7.5หมื่นล้านบาท

     “เป้าหมายเรา คือการเข้าไปซื้อหนี้ในไตรมาส 4 เข้ามาเยอะ เพื่อให้ได้เป้าหมายของเราที่วางไว้ทั้งปีที่ 1-1.5หมื่นล้านบาท ตอนนี้ได้มาแล้ว 4พันล้านบาท แต่การซื้อหนี้เข้ามา เราก็ต้องดูตัวที่สามารถบริหารแล้วได้กำไร ไม่ได้สักแต่เอาเข้ามาแต่ไม่ได้สร้างมูลค่าให้กับพอร์ต ดังนั้นหนี้ที่เข้ามาบริหารก็ต้องมีคุณภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีด้วยไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาประมูลหนี้อย่างเดียว”