นักวิจัยสถาบันป๋วยชี้นโยบายภาครัฐทำเกษตรกรไม่พ้นกับดักหนี้

นักวิจัยสถาบันป๋วยชี้นโยบายภาครัฐทำเกษตรกรไม่พ้นกับดักหนี้

นักวิจัยสถาบันป๋วยชี้ 3 ปัจจัยหลักทำเกษตรกรไม่พ้นปัญหากับดักหนี้คือ ปัญหาด้านรายได้ ระบบการเงินไม่ตอบโจทย์ และกับดักนโยบายภาครัฐที่หนุนการพักชำระหนี้ต่อเนื่อง ระบุ อีก 6 ปีข้างหน้า เกษตรกรจะเป็นหนี้ราว 70% ของสินทรัพย์ ท้ายที่สุดนำไปสู่กับดักของการพัฒนาประเทศ

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย นางสาวโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และนางสาวลัทธพร รัตนวรารักษ์ ได้สำรวจเกษตรกรไทยจำนวน 1 ล้านราย พบว่า เกษตรกรไทยไม่พ้นภาวะที่เรียกว่า กับดักหนี้ โดยระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยยังมีการประท้วงรัฐบาลในเรื่องเดิมๆ คือ เรื่องของหนี้สิน และประเมินว่า ภาระหนี้สินในวันนี้กับอีก 6 ปีข้างหน้าจะอยู่ในระดับเฉลี่ย 70% ของสินทรัพย์

ทั้งนี้ กับดักหนี้ เกิดขึ้นจาก 4 ส่วนหลัก คือ 1.ปัญหาด้านรายได้ 2.การใช้เครื่องมือการเงินไม่เหมาะสม 3.ระบบการเงินฐานรากที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ และ 4.กับดักนโยบายรัฐที่ทำให้เกษตรกรยังคงมีหนี้สินเพิ่มเติม

“ปัญหากับดักหนี้ดังกล่าว สุดท้ายแล้ว จะกลายเป็นกับดักของการพัฒนาประเทศ โดยภูมิคุ้มกันด้านการเงินจะน้อยลง กล่าวคือ เกษตรกรจะไม่สามารถกู้ยืมเงินได้อีกต่อไป”

สำหรับปัญหาทางด้านรายได้นั้น พบว่า มีอยู่ 3 ปัญหา คือ 1.เกษตรกรมีรายได้น้อย ไม่พอใช้จ่ายเมื่อจำเป็น และไม่พอในการชำระหนี้ 2.รายได้ไม่แน่นอน ทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพคล่องหลายเดือนต่อปี และ 3.รายได้ทั้งใน และนอกภาคเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ ยังพบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ไม่พอจ่ายในทุกเดือนประมาณ 17% มีปัญหาด้านสภาพคล่องประมาณ 69% และ มีเพียงประมาณ 12% ที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย

ด้านเครื่องมือการเงินที่ไม่ตอบโจทย์นั้น พบว่า การใช้เครื่องมือการเงินยังไม่มีความเหมาะสม โดยเกษตรกรมีความตระหนักรู้ทางการเงินน้อย ขณะที่ ยังไม่สามารถใช้การออม และการประกันมาช่วยจัดการปัญหาการเงินหรือสะสมความมั่งคั่งได้ ขณะเดียวกัน รูปแบบการออมก็ไม่ได้ออมเป็นสินทรัพย์การเงิน แต่กลับไปออมในรูปปศุสัตว์ ซึ่งเสี่ยงสูง และสภาพคล่องต่ำ

ทั้งนี้ พบว่า ครัวเรือนใช้สินเชื่อเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการทางการเงิน และสามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่หลากหลายทั้งใน และนอกระบบ ทำให้กว่า 90% มีหนี้สิน โดยมีหนี้สินเฉลี่ยมากถึง 4.5 แสนบาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากหนี้เดิมที่ชำระไม่ได้ และมีหนี้ใหม่ก่อเพิ่มทุกปี แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนเกษตรกรกำลังใช้สินเชื่อกันอย่างไม่ยั่งยืน

สำหรับแหล่งทุนในการกู้นั้น พบว่า เกษตรกร 1 มีการกู้ยืมผ่านแหล่งทุนอื่นๆ พร้อมๆ กัน โดยกู้ผ่านแบงก์รัฐ 65% ผ่านสถาบันการเงินชุมชน 65% กู้นอกระบบ 31% ผ่านเช่าซื้อ และลีสซิ่ง 28% และผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ 22%

ด้านปัญหาระบบการเงินฐานรากนั้น พบว่า เป็นปัญหาสำคัญที่กำลังฉุดรั้งการให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของครัวเรือน ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลักคือ ปัญหาการขาดแคลนข้อมูล ทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพ และนิสัยที่แท้จริงของเกษตรกร และไม่มีข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน ทำให้การปล่อยสินเชื่ออาจยังไม่ทั่วถึง และไม่ตอบโจทย์ทุกกลุ่มได้ และที่สำคัญอาจไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงและเกินศักยภาพของครัวเรือน

“แนวทางแก้ไข คือ การสร้างฐานข้อมูล ซึ่งควรมีภาคีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยเชื่อมโยงหรือหาเจ้าภาพมาเชื่อมโยงข้อมูลการเงินของเกษตรกร เมื่อเชื่อมโยงแล้ว จะต้องมีกลไกให้แหล่งทุนต่างๆเอาไปใช้วิเคราะห์ก่อนปล่อยสินเชื่อได้”

ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่า ครัวเรือนยังมีความต้องการสินเชื่อเพิ่ม โดยเฉพาะเพื่อทำการเกษตรและลงทุน ขณะที่ 57% มีหนี้สินรวมจากทุกแหล่งสูงเกินศักยภาพในการชำระหนี้ และมีพฤติกรรมการหมุนหนี้กันในวงกว้าง

นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัญหาการออกแบบสัญญาชำระหนี้ ที่อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาการเงินเกษตรกร จึงไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จูงใจ และเหมาะสมกับศักยภาพ ทำให้เมื่อกู้ไปแล้วครัวเรือนไม่สามารถชำระหนี้หรือปลดหนี้ได้จริง เช่น การชำระหนี้ปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น ขณะเดียวกัน ปัญหาในการติดตามและบังคับหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่เช่นแบงก์รัฐ ซึ่งพบว่า ครัวเรือนมักจะผิดนัดชำระหนี้เป็นอันดับแรกๆ เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินชุมชนหรือนอกระบบ

ทั้งนี้ เมื่อศึกษาสินเชื่อที่ใช้ในการค้ำประกันกลุ่มกว่า 3 แสนกลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งเคยเป็นนวัตกรรมของกลไกการชำระหนี้ในอดีต กลับพบว่า มีปัญหาการชำระหนี้ในวงกว้างและกำลังกลายเป็นสินเชื่อแห่งความแตกแยก

สำหรับปัญหาด้านนโยบายรัฐ เราพบว่า เป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดกับดักหนี้ของเกษตรกร และไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ โดยเฉพาะนโยบายพักชำระหนี้ ซึ่งเราพบว่า ราว 41% ของเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้เกินกว่า 4 ปี ทำให้เกิดการสะสมหนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีหนี้ระดับปานกลาง และสูง

“ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายในการพักชำระหนี้ แต่ทางแบงก์รัฐ ก็ยังเติมเงินให้เพิ่มขึ้น ถือเป็นการเลี้ยงไข้หนี้ไปเรื่อย ทั้งนี้ นโยบายการพักหนี้ เป็นการพักหนี้ในวงกว้าง ซึ่งเกษตรกรบางกลุ่มอาจจะยังมีความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้น แนวทางแก้ไข คือ ควรเข้าไปช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาเท่านั้น”

ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขปัญหากับดักหนี้ คือ ระบบการเงินต้องทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ โดยต้องมีข้อมูลการเงินที่ครบวงจร ผลิตภัณฑ์การเงินต้องตอบโจทย์ ใช้สถาบันการเงินชุมชนเข้ามาช่วยบังคับหนี้ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอาจเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงินชุมชน และให้สถาบันการเงินชุมชนนำเงินไปปล่อยกู้ต่อให้แก่เกษตรกร เพื่อให้มีการบังคับหนี้ที่มีประสิทธิภาพ และท้ายที่สุดจะต้องแก้ไขหนี้เดิมของเกษตรกรให้หมดก่อนที่จะปล่อยกู้ก้อนใหม่

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์