KBANK ชี้ ‘เอสเอ็มอี’แห่ปิดกิจการพุ่งกว่า100ราย กระอักพิษโควิด-19

KBANK ชี้ ‘เอสเอ็มอี’แห่ปิดกิจการพุ่งกว่า100ราย กระอักพิษโควิด-19

กสิกรไทยชี้ จากผลกระทบโควิด ส่งผลลูกค้า เอสเอ็มอี ปิดกิจการ แล้วกว่า 100แห่งมูลค่าหลายพันล้านบาท หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่ยอดขอเข้าปรับโครงสร้างหนี้พุ่งต่อเดือน1.5พันล้านบาท ด้านพักทรัพย์พักหนี้กสิกรครองอันดับหนึ่ง คาดสิ้นปีแตะ1.8หมื่นล้าน

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย  กล่าวว่า ปัจจุบันลูกหนี้ทยอยเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของแบงก์มากขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.5พันล้านบาทต่อเดือน ทั้งรายย่อยและผู้ประกอบการ

     โดยคาดว่าหลังจากนี้จะเห็นลูกหนี้เข้าโครงการเพิ่ม เนื่องจากมาตรการทยอยหมดลง ทำให้ลูกค้าบางส่วนที่ยังไม่ฟื้นตัว
 

      อีกทั้งปัจจุบันเริ่มเห็นธุรกิจทยอยปิดกิจการมากขึ้นชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่เป็นลูกค้าของแบงก์ ซึ่งหลักๆมาจากผลกระทบจากโควิด-19 และบางส่วนมาจากก่อนโควิด ที่ธุรกิจเริ่มอ่อนแอลง
       สำหรับมาตรการ โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ปัจจุบันลูกค้าธนาคารเข้าโครงการสูงที่สุดในบรรดาแบงก์ โดยมีลูกค้าเข้าโครงการแล้ว 1.5หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 1.8หมื่นล้านบาท เพราะมีภาคธุรกิจบางส่วนที่ยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ที่ต้องใช้เวลานานอย่างน้อยสองปี กว่าธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ หลังภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน 

      นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ล่าสุด มีลูกค้าธุรกิจ ที่เป็นลูกค้าของธนาคาร กว่า 100แห่ง คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ที่มีการปิดการไป ในช่วงโควิด-19จนถึงปัจจุบัน จากธุรกิจที่มีความอ่อนแอลง ทั้งก่อนโควิดที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว และช่วงโควิด-19ที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น 

      ดังนั้นในแง่หนี้เสียของเอสเอ็มอี คงยังอยู่ระดับสูง โดยอยู่กว่า3%  และยังไม่ใช่จุดพีค ซึ่งจะทยอยเห็นหนี้เสียหลังจากนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนนี้แบงก์ได้มีการสำรองไว้ล่วงหน้าไว้ทั้งหมดแล้ว 
       สำหรับลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้กระจายทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ถูกกระทบจากโควิด-19 การถูก Technology Disruption ไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งบางรายมีการปรับโครงสร้างมาแล้ว 2 ครั้ง และไม่สามารถไปต่อได้ จำเป็นต้องปิดกิจการ 
      ส่วนโครงการพักทรัพย์พัหนี้  มีธุรกิจภาคบริการ-โรงแรมอยู่ระหว่างการเจรจาขอเข้าโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เพิ่มเติมอีกราว 3,000 ล้านบาท แม้ว่าการท่องเที่ยวจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งการเข้าโครงการถือเป็นทางเลือกที่ดี สำหรับผู้ประกอบการเพราะดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะ3ปีอยู่เพียงระดับ 3%เท่านั้น 
      KBANK ชี้ ‘เอสเอ็มอี’แห่ปิดกิจการพุ่งกว่า100ราย กระอักพิษโควิด-19

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า หากดูหนี้เสียของภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีรายได้ต่ำกว่า 500ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ สิ้นปี 2562 จนถึง กลางปี 2565 พบว่าหนี้เสียเอสเอ็มอีปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในกลุ่ม เหมืองแร่ เหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ แฟชั่น ธุรกิจเกษตร รับเหมาก่อสร้าง เหล่านี้ถือว่าน่าห่วง จากหนี้เสียที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยหากคิดสัดส่วนสินเชื่อของแต่ละกลุ่ม 100% พบว่า ในกลุ่มเหมืองแร่ มีหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลล่าสุดที่ 26.6%แม้จะลดลง จากช่วงปี 2562แต่หนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วง1-2ปีที่ผ่านมา

ขณะที่กลุ่มธุรกิจเกษตร หนี้เสียอยู่ที่ 12.3% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562ที่อยู่เพียง 9.6% ส่วนธุรกิจแฟชั่น หนี้เสียมาอยู่ที่ 13.1% จาก 12% หรือธุรกิจเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ ที่พบว่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11.1%จากสิ้นปีก่อนที่ 9.4%

ส่วนธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หนี้เสียก็อยู่ระดับสูง ที่ 9.1%เพิ่มต่อเนื่อง หากเทียบกับสิ้นปี 2562ที่ 5.9%