ธปท.เล็งผุด ‘แพลตฟอร์ม’ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน หวังต้นทุนทำธุรกรรมวูบ

ธปท.เล็งผุด ‘แพลตฟอร์ม’ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน หวังต้นทุนทำธุรกรรมวูบ

ธปท. ศึกษาวางโครงสร้างพื้นฐาน ผุดแพลตฟอร์มกลางซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน เอื้อผู้ประอบการเอสเอ็มอี เข้าไม่ถึงบริการแบงก์ ทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราสะดวกรวมเร็วมากขึ้น -ต้นทุนต่ำ พร้อมเปิดทางให้ผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันทำธุรกิจมากขึ้น คาดชัดเจนปีหน้า

    นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้แผนผลักดันระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) ของธปท.ระยะข้างหน้าที่ต้องทำเพิ่มเติม

      ด้านหนึ่ง คือการเปิดให้มีผู้เล่นเข้ามาในระบบมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแบงก์ที่ให้บริการด้าน FX แต่อาจเป็นผู้ประกอบการต่างๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น เพื่อทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมของลูกค้าถูกลงในระยะข้างหน้า
 


      โดยล่าสุดธปท.อยู่ระหว่างการศึกษาสร้างแพลตฟอร์มในการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน และทำธุรกรรมซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Spot) ได้ง่ายมากขึ้น และช่วยทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไม่มีเครดิตไลน์ สามารถเข้ามาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าบนแพลตฟอร์มได้

      ทั้งนี้การมีแพลตฟอร์มดังกล่าว เชื่อว่าจะช่วยทำให้เอสเอ็มอีสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกมากขึ้น และมีต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ถูกลง จากการเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาดที่มากขึ้น  ซึ่งคนที่จะเข้ามาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์ตนี้ได้จะต้องมีหลักฐาน หรือข้อมูลหรือเกี่ยวข้องการทำธุรกรรมต่างประเทศ ,ธุรกรรมการซื้อขาย ,การทำธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอัตราแลกเปลี่ยน เพราะไม่เช่นนั้นอาจเป็นช่องทางการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนได้

คาดชัดเจนปีหน้า

     นายเมธี กล่าวว่า  การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใหม่ๆเข้าทำแพลตฟอร์มนี้ได้ แบงก์คงต้องไปดูถึงการบริหารความเสี่ยง หรือ Risk Management ) ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งคนที่จะเข้ามาทำได้ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ธปท.กำหนด ซึ่งเรื่องนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนได้ปีหน้านี้

     “แบงก์ก็สามารถเข้ามาทำแพลตฟอร์ตนี้ได้ แต่ก็อาจจะเหมือนกับแข่งกับตัวเอง เพราะแบงก์ทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว หรืออาจเป็นผู้ประกอบการ, ร้านค้าต่างๆที่เป็นไปตามมาตรฐานของธปท.ก็สามารถเข้ามาสร้างแพลตฟอร์มนี้ได้ แต่วันนี้ต้องรอเกณฑ์ออกมาก่อน ซึ่งเรากำลังดูว่าต้องมีมาตรฐานอย่างไร และคงไม่จำกัดคนที่จะเข้ามาทำแพลตฟอร์มนี้ว่ากี่ราย และธปท.ไม่ได้หวังว่าจะทำให้แบงก์เดือด"

      สำหรับจุดประสงค์การทำแพลตฟอร์มดังกล่าวคือ สามารถทำให้คนที่เข้าไม่ถึงแบงก์ คนที่แบงก์ไม่ให้บริการ หรือแบงก์ไม่สนใจ มาใช้บริการเหล่านี้ได้   โดยไม่ได้มีเป้าหมาย ที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า แต่เป้าหมายหลักคือ ต้องการให้เงินไหลเข้าไหลออกได้สมดุลมากขึ้น และภาคธุรกิจไทยไม่จำเป็นต้องถือเงินบาทอย่างเดียว แต่สามารถซื้อดอลลาร์ได้สะดวกขึ้นเพื่อใช้ในการค้าขายการทำธุรกิจในอนาคต

หวั่นกระทบกำไรแบงก์

    นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปกติธนาคารก็มีระบบการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนผ่านระบบออนไลน์ หรือมีแพลตของตัวเองอยู่แล้ว แต่คนที่จะเข้ามาซื้อขาย หรือทำธุรกรรมได้ จะต้องเป็นคนที่วงเงิน underlying ถูกต้องตามเกณฑ์ 

    ดังนั้นมองว่า การที่แบงก์ชาติต้องการสร้างแพลตฟอร์มดังกล่าวขึ้นมาหลักๆก็คงมีจุดประสงค์ในการช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ประกอบการ และผู้ที่ต้องการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนให้ง่ายมากขึ้น และอาจต้องการให้มีมาตรฐานกลาง ฟีเจอร์กลาง ให้มีความโปร่งใส และแข่งขันกันมากขึ้น เพราะปัจจุบันการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ประกอบการมักจะมีการโค้ดราคา และคิดค่าธรรมเนียมต่างๆบนต้นทุนที่เหมาะสมของตัวเอง ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละธนาคาร

     ส่วนอีกด้าน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในมุมแบงก์​ หรือผู้ที่มีไลเซ่นส์ในอนาคตในการประกอบธุรกิจนี้อยู่แล้วอาจได้รับผลกระทบในด้านกำไรหรือส่วนต่างสเปรด หรือการคิดค่าธรรมเนียมสวอปต่างๆ ให้ลดลง

     “ต้องไปดูความชัดเจนจากแบงก์ชาติว่าแพลตฟอร์ตนี้เป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าผู้เล่น ที่อยู่ในระบบนี้อยู่แล้วก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะเข้ามาแย่งตลาด แต่อีกมุมแบงก์ชาติก็อาจอยากให้โปรงใส เป็นกลางมากขึ้น ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แง่ของแบงก์เองก็อาจกระทบต่อกำไรหรือค่าธรรมเนียมในการให้บริการตรงนี้ลดลง หากมีผู้ประกอบการต่างๆเข้ามามากขึ้น”

บาทอ่อนผู้ส่งออกไม่ได้เปรียบในระยะยาว 

    นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Thailand) กล่าวว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาจทำให้ผู้ส่งออกได้เปรียบ แต่มันเป็นการได้เปรียบที่ไม่ได้เป็นระยะยาว เพราะค่าบาทไหวตัวค่อนข้างเร็วมาก เพราะฉะนั้นการได้เปรียบมันไม่ได้อยู่ที่ค่าเงิน แต่อยู่ที่การนำเสนอสินค้าและบริการ และการบริหารจัดการต้นทุนภายในมากกว่า คือผู้ส่งออกต้องปรับตัวเอง

     อีกทั้ง ค่าเงินบาทค่อนข้างอ่อนไหลและผันผวน โดย กลางปีที่ผ่านมาเงินบาท แข็งขึ้นไปอยู่ที่ 31 ถึง 32บาทต่อดอลลาร์ แต่4-5เดือนนี้ เงินบาทอ่อนค่ามาสู่ 36 -37บาท ซึ่ง มันเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ใช่ธรรมดา ทำให้เรารู้แล้วว่าโลกนี้มันมีความอ่อนไหวอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะมาจากสงครามรัสเซีย -ยูเครน หรือการคาดการณ์ ว่าโลกจะเข้าสู่ Recession