แบงก์ชาติแจงชัด ‘ทุนสำรองลด’ ไม่ได้เกิดจาก การต่อสู้‘ค่าเงิน’

แบงก์ชาติแจงชัด ‘ทุนสำรองลด’ ไม่ได้เกิดจาก การต่อสู้‘ค่าเงิน’

แบงก์ชาติ ชี้ทุนสำรองลดฮวบ ไม่ได้มาจากการสู้เงินบาท เพื่อพยุงไม่ให้อ่อนค่า แต่มาจากมูลค่าสินทรัพย์ในทุนสำรองลด หากเทียบดอลลาร์ ย้ำเข้าดูแลกรณีผันผวนมาก

     นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ส่วนการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ผ่านมา ภายใต้ การ normalization ธปท.มีการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2ครั้ง อยู่ที่ระดับ 1%

      และกรณีมีคำถามว่าการขึ้นดอกเบี้ยช้า จะยิ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าหรือไม่นั้น หากดูเงินทุนไหลเข้าของไทย วันนี้ยังไหลเข้า อยู่ที่ 3-4พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้มีส่วนต่างดอกเบี้ยกับสหรัฐมาก นอกจากนี้หากเทียบเกาหลี ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าของไทย แต่เงินวอนอ่อนค่ากว่าไทยมาก ดังนั้นสะท้อนว่า การขึ้นดอกเบี้ยไปก็ไม่ได้ช่วยทำให้เงินอ่อนค่าน้อยลง ดังนั้นดูเฉพาะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ ต้องดูตัวอื่นประกอบด้วย

     อย่างไรก็ตาม การดูแลเงินบาท เป้าหมายหลักของธปท.คือ ดูแลความผันผวน ไม่ให้นำกว่าภูมิภาค หรือประเทศเกิดใหม่ ซึ่งหากดูอัตราแลกเปลี่ยนของไทยวันนี้ ถือว่าอ่อนค่าไม่ได้มากนัก หากเทียบกับประเทศอื่นๆ

ทุนสำรองลดไม่ได้มาจากการสู้ค่าเงินบาท

    ด้านทุนสำรองของไทยที่ลดลง หลักๆมากจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และในตระกร้าของทุนสำรองธปท. มีการกระจายความเสี่ยงไปในหลายสกุล ดังนั้นเมื่อดอลลาร์แข็งค่า ทุนสำรองของธปท.จึงลดลง ตามการอ่อนค่าของเงินสกุลต่างๆเทียบดอลลาร์ ดังนั้นทุนสำรองที่ลดลงไม่ได้มาจากการสู้ค่าเงินบาท ซึ่งมีบ้างที่ธปท.เข้าไปเพื่อเข้าไปดูแลลดความผันผวนของเงินบาท ซึ่งไม่เหมือนบางประเทศที่ประกาศเข้าไปดูแลค่าเงินทุกวัน

     อีกทั้ง ทุนสำรองของไทยในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ลดลงมากจนน่าตกใจ หรือต่ำกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งยังสูงกว่าหลายประเทศ และสูงเป็นอันดับที่ 12ของโลก สูงกว่าสหรัฐ กว่ายุโรป และหลายประเทศ ดังนั้นทุนสำรองที่ลดลงไม่ได้น่ากลัว หรือน่ากังวล อีกทั้งหากประเมินความมั่นคงด้านต่างประเทศ ถือว่าไทยยังแข็งแกร่งมากในด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ดังนั้นตรงนี้คงไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าห่วง

      ขณะที่หากดูทุนสำรองระหว่างประเทศ วันนี้อยู่ระดับสูงที่ 2.4แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นอันดับ 6ของโลกต่อจีดีพี และสูงเป็นอับดับที่12ของโลก ที่เป็นตัวสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน และสะท้อนการมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยได้ดี

      อย่างไรก็ตาม ส่วนการประชุมกนง.ที่เหลือเพียง 1ครั้ง ต่างกับเฟดที่จะมีการประชุมอีก 2ครั้งปีนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปหมดแล้ว ดังนั้นการเหลือประชุมอีกหนึ่งครั้ง ก็เชื่อว่าไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงิน