'เงินบาท’ อ่อนค่าควรดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำไมเราต้องกังวล?

'เงินบาท’ อ่อนค่าควรดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำไมเราต้องกังวล?

การอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้แตกต่างจากช่วงปี 2540 โดยสิ้นเชิง ซึ่งน่าจะดีต่อภาคการส่งออกและท่องเที่ยว แล้วทำไมเราต้องกังวลกับการอ่อนค่าของเงินบาท นั่นเป็นเพราะเหรียญมีสองด้านเสมอ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ยากของ 'แบงก์ชาติไทย" ในการทำนโยบายการเงินเพื่อดูความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ-ค่าเงิน

การอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้ราว 38 บาทต่อดอลลาร์ แม้จะอ่อนค่าลงเร็วแต่ก็เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาคและคู่แข่งทางการค้า เพียงแต่ใครจะอ่อนมาก อ่อนน้อยกว่ากันเท่านั้น

บาทอ่อนค่ารอบนี้ ต่างจากปี 40 

สาเหตุเงินบาทอ่อนค่า ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ บอกว่า เงินบาทที่อ่อนค่าเกิดจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ต่างจากปี 2540 ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพราะมีปัญหาภายในของเราเอง 

“บาทอ่อนเป็นปัญหาภายนอก เป็นปัญหาของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ เราคงทำอะไรไม่ได้มาก”

มอง 'ส่งออก-ท่องเที่ยว' รับผลเชิงบวก

ดร.กอบศักดิ์ บอกว่า ถ้ามองในมุมบวก การอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้ น่าจะส่งผลดีต่อคนเกือบ 30 ล้านคน แบ่งเป็น ในภาคการส่งออก 3-4 ล้านคน ภาคเกษตร 20 ล้านคน และภาคการท่องเที่ยวอีก 10 ล้านคน ทั้ง 3 ภาคนี้สร้าง productivity รวมกันกว่า 50% ของจีดีพี

แนะรัฐดูแลกลุ่มผู้นำเข้า-ผู้ผลิต แบกต้นทุนพุ่ง

แต่เหรียญอีกด้านของเงินบาทที่อ่อนค่าลง เมื่อมีผู้ได้ ย่อมมีผู้เสีย ซึ่งผลเสียก็จะเป็นกลุ่มผู้นำเข้า กลุ่มผู้ผลิตที่ต้องแบกต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน และ กลุ่มส่งออกที่ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่ ก็จะไม่ได้ประโยชน์ ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็มีต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มคนที่เสียประโยชน์เหล่านี้ จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแลเป็นกลุ่มเฉพาะ ตรงกับโรค ที่ต่างจากโควิด-19 ที่ต้องช่วยทุกภาคส่วน

ชี้ กนง.ขึ้นดบ.0.25% กังวลศก. ฟื้นแผ่ว

มติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ล่าสุด 28 ก.ย.2565 ออกมาเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1% ท่ามกลางปัจจัยกดดันที่หลายฝ่ายคาดว่า กนง. น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% เพราะ เงินเฟ้อยังสูง เงินบาทอ่อนค่า ธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง

การขึ้นแค่ 0.25% อาจสะท้อนได้ว่า กนง.ไม่ได้กังวลต่อการอ่อนค่าของเงินบาท  …แล้ว กนง. กังวลอะไร? ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวอย่างแผ่วเบา

ความจริงแล้วเงินเฟ้อระดับปัจจุบัน ที่ขยายตัว 7.8% มีน้ำหนักเพียงพอที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.25% แต่ด้วยสถานการณ์ราคาพลังงานที่ลดลงมามากเมื่อเทียบกับการประชุมรอบก่อน ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในอนาคตอาจลดลง จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ กนง. ยังไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นได้  

ในขณะเดียวกันการขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% ยังดูไม่เป็นการทำร้ายเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวมากจนเกินไป และอีกทางหนึ่งจะช่วยลดภาระให้ภาคธุรกิจ และ ประชาชนที่แบกหนี้หลังแอ่นจากระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังคงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ด้วย

โดยสรุป เราอาจไม่จำเป็นต้องกังวลกับเงินบาทที่อ่อนมากเกินไปหรือไม่? เพราะเมื่อชั่งน้ำหนัก ‘ได้-เสีย’ แล้ว บางคนเชื่อว่าน่าจะได้มากกว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจไทยยังขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ส่งออก เกษตร และ การท่องเที่ยว

มอง 'โจทย์ยาก’ แบงก์ชาติไทย คุมความเสี่ยง'ศก. -เงินเฟ้อ -ค่าเงิน' 

อย่างไรก็ตามในอีกมิติหนึ่ง หลายคนเป็นห่วงว่า ‘เงินบาท’ ที่เริ่มอ่อนค่าลงเร็วจะเดินตามรอย ‘เงินเยน’ ของญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ดีนักจากพิษโควิด ทำให้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ซึ่งญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวในปัจจุบันที่ยังใช้ดอกเบี้ยนโยบายในอัตราติดลบที่ -0.1% 

ด้วยเหตุนี้ ค่าเงินเยน จึงตกเป็นเป้า กลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินเยนอ่อนค่าลงมาแล้วประมาณ 25% ส่งผลให้ต้นทุนค่าครองชีพของคนญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งนับเป็นการเข้าแทรกแซงในตลาดเงินครั้งแรกรอบ 24 ปี 

สำหรับไทยนั้น แม้จะเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงบ้าง แต่ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า สะท้อนผ่านการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในอัตราเพียง 0.5% หรือปรับขึ้นจากระดับ 0.5% มาอยู่ที่ 1% ขณะที่ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ เหยียบคันเร่งในการขึ้นดอกเบี้ยแบบเต็มสปีช ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงกังวลว่า ไทยจะเดินตามรอยญี่ปุ่นหรือไม่

ประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์เฝ้าจับตาในเวลานี้ คือ การที่ไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่แผ่วเบา ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่าง ไทย กับ สหรัฐ ถ่างกันมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อยู่ที่ 3-3.25% แต่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1% เท่ากับว่ามีส่วนต่างมากถึง 2-2.25% และส่วนต่างที่ว่านี้จะยิ่งถ่างมากขึ้นในอนาคต

ถ้าย้อนดูการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังเกิดจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งเรายังไม่เห็นผลจากการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมากนัก 

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนเป็นกังวล คือ หากส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐถ่างกันมากขึ้น จนทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มไหลออก ถึงจุดนั้นเงินบาทจะยิ่งอ่อนค่าลงเร็วไม่ต่างจากค่าเงินเยน ถ้าเป็นเช่นนั้นค่าเงินบาทที่ระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

แน่นอนว่าเงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลดีต่อการส่งออกและท่องเที่ยว แต่ ณ เวลานี้คงจะมีคำถามอยู่มาก คือ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้าน Recession การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยจะโดนหางเลขด้วยหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ ไทย จำเป็นต้องสร้างเกาะป้องกันตัวเองขึ้นมา คือ กระตุ้นดีมานด์ในประเทศ ผ่านการบริโภคและการลงทุน

อย่างไรก็ตามการจะหวังให้การบริโภคภายในประเทศขึ้นมาเป็นพระเอกคงเป็นเรื่องยาก เพราะด้วยระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงบวกกับค่าครองชีพที่แพงขึ้นจากพิษของเงินเฟ้อทำให้การบริโภคยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ สิ่งเดียวที่พอจะเป็นความหวัง คือ การลงทุน แต่ด้วยเงินบาทที่อ่อนค่าลงไปมาก อาจทำให้แรงจูงใจต่อการลงทุนลดลงไปด้วย เพราะแน่นอนว่าการลงทุนจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุนไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเครื่องจักรจากต่างประเทศ 

ทั้งหมดนี้นับเป็น ‘โจทย์ยาก’ ของแบงก์ชาติไทยในการทำนโยบายการเงินเพื่อดูแลทั้งความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมไปถึง ค่าเงิน อยู่ที่ว่า แบงก์ชาติให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรเป็นหลัก 

ซึ่งถ้าดูจากมติ กนง. ที่ออกมาเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 0.25% สะท้อนชัดเจนแล้วว่า แบงก์ชาติ กำลังเลือกดูแล ‘เศรษฐกิจ’ มากกว่าเงินเฟ้อและค่าเงิน

จากนี้ไปจึงยังต้องติดตามดูว่า เงินบาทไทยจะเดินตามรอยเงินเยนของญี่ปุ่นหรือไม่ และเงินเฟ้อที่พุ่งแรงจะคุมได้อยู่หมัดรึเปล่า สถานการณ์เหล่านี้ยังต้องติดตามกันอีกยาว