นักเรียน - นักศึกษาเริ่มเบี้ยวหนี้หลังรอความชัดเจนกฎหมายใหม่ กยศ.

นักเรียน - นักศึกษาเริ่มเบี้ยวหนี้หลังรอความชัดเจนกฎหมายใหม่ กยศ.

กยศ.เผย นักเรียน - นักศึกษา เริ่มชะลอจ่ายหนี้ ยอดเฉลี่ยชำระหนี้เองเหลือ 10 ล้านต่อเดือน จาก 50 ล้านต่อเดือน หลังรอความชัดเจน พ.ร.บ.กยศ.ใหม่ ลดเบี้ยปรับ - ลดดอกเบี้ย ยันอัตราดอกเบี้ยที่เก็บอยู่ปัจจุบันเหมาะสมแล้ว เผยหากลดดอกเบี้ย - ลดเบี้ยปรับ สูญเงินปีละ 6 พันล้านบาท

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)​ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของผู้กู้ยืมในการจ่ายเงินคืน กยศ. เนื่องจาก ผู้กู้ยืมกำลังรอความชัดเจน พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)​ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในสมาชิกวุฒิสภา ในเดือนพ.ย.นี้ว่า จะมีการลดเบี้ยปรับ และลดดอกเบี้ยกู้ยืมหรือไม่

โดยปัจจุบันการจ่ายหนี้ กยศ. รับชำระหนี้ 2 ทาง คือ 1.การหักจากบัญชีลูกจ้าง ซึ่งเป็นการร่วมมือกับสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ในส่วนนี้ยอดไม่ลดลง และ2.การจ่ายหนี้ด้วยตัวเอง มีอัตราชำระลดลง จากเดิมมีการชำระหนี้วันละ 50 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลือเพียงวันละ 10 ล้านบาท เท่านั้น

ทั้งนี้ ตามกฎหมายให้ กยศ. เก็บเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 1%  และดอกเบี้ยไม่เกิน 2% แต่ปัจจุบัน กยศ.เก็บทั้งดอกเบี้ย และเบี้ยปรับต่ำกว่ากฎหมายที่กำหนดไว้ จึงมองว่าดอกเบี้ย และเบี้ยปรับที่จัดเก็บในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว

ส่วนลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเนื่องจากผิดชำระหนี้ ปัจจุบัน กยศ.ชะลอการฟ้องอยู่ที่ประมาณ 180,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เข้ามาทำการไกล่เกลี่ยแล้วจำนวน 140,000 คน ดังนั้น จึงจะเปิดไกล่เกลี่ยหนี้ที่ กยศ.ทุกแห่งเพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้มีอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มยากจน 2.กลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงิน  และ3.กลุ่มที่ไม่มีจิตสำนึก เช่น มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารแต่ไม่ยอมจ่าย เป็นต้น

ส่วนปัจจุบัน กยศ.มีทรัพย์สิน 370,000 ล้านบาท  รับชำระหนี้อยู่ปีละ 30,000 ล้านบาท และปล่อยกู้ปีละ 40,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีรายได้จากเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยปีละ 3,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,000 ล้านบาท  สำหรับผลการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจำนวน 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท

ดังนั้น ในอนาคตอีก 5 ปี ข้างหน้า(2566-2570) กยศ.มีรายจ่ายแน่นอนประมาณ 200,000 ล้านบาท ขณะที่ รายรับนั้นได้ปีละ 30,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่ง 5 ปี ก็จะมีรายรับอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ไม่มีดอกเบี้ย และถูกลดเบี้ยปรับนั้นจะทำให้ กยศ.เสียรายได้ปีละ 6,000 ล้านบาท ดังนั้นหลังจากนี้จะต้องขอความร่วมมือให้ลูกหนี้มีวินัยในการจ่ายหนี้ หรืออาจขอใช้งบประมาณจากภาครัฐ เพื่อประคับประคองกองทุนต่อไป   

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์