“อาคม”เผยหารือแนวกำกับค่าบาท - ดอกเบี้ยกับ ธปท.หลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย

“อาคม”เผยหารือแนวกำกับค่าบาท - ดอกเบี้ยกับ ธปท.หลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย

“อาคม”เผยได้แนวกำกับค่าบาท - อัตราดอกเบี้ยกับ ธปท.แล้วหลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ระบุ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยคือ เงินเฟ้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเงินทุนเคลื่อนย้าย โดย กนง.จะเป็นผู้พิจารณา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีก 0.75%

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยเหตุผลก็เพื่อลดความร้อนแรงในการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฟดได้ตั้งเป้าว่า จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นไปอีก 4-4.5% ขณะนี้ ก็ได้ปรับขึ้นไปครึ่งหนึ่งแล้ว

ดังนั้น ในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยยังต้องติดตามว่า การขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งที่ผ่านมา จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และจะมีผลอย่างไรกับประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ ในการหารือกับ ธปท.ได้ให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลักในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยหรือไม่ ได้แก่ 1.อัตราเงินเฟ้อ โดยจะต้องดูว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลต่อเงินเฟ้อ และมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน 2.การขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.จะต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้แบบปกติ และ 3.เงินทุนเคลื่อนย้าย โดยช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่ยังไม่ถือว่าผิดปกติ ธปท.ก็มีการติดตามอย่างใกล้ชิด

“ปัจจัย 3 ข้อ คือ เงินเฟ้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเคลื่อนย้ายของเงินทุน จะให้น้ำหนักในเรื่องใดมากกว่ากันนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธปท. ที่จะเป็นผู้พิจารณาเอง ซึ่งทั้งคลังและ ธปท. ก็มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์มีความผันผวนมาก ธปท.ก็จะเข้าไปดูแล”

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละประเทศ บางประเทศเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว บางประเทศเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยก็เป็นหนึ่งในต้นทุน

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 นี้ หลายสำนักยังประเมินว่าจะขยายตัวได้ 3-3.5% ซึ่งมองว่า เราก็น่าจะสามารถทำได้ จากปัจจัยสนับสนุนจากเรื่องส่งออกที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่า โดยกลุ่มที่ได้เปรียบคือ การส่งออกอาหาร ที่ให้วัตถุดิบหลักภายในประเทศ ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว ล่าสุด มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมาแล้ว 5 ล้านคน และคาดว่าปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะถึง 8 ล้านคน ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วนกรณีที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงรวดเร็ว จะมีผลต่อราคาพลังงาน และค่าครองชีพในประเทศเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่นั้น มองว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันได้ลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 90-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่รัฐบาลบริหารจัดการได้

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติตดามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วงเดือนพ.ย.- ธ.ค.65 เป็นช่วงหน้าหนาวแล้ว อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวนได้ ซึ่งอาจมีผลต่อเรื่องราคาสินค้า และค่าครองชีพ เนื่องจากมีต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์สูงขึ้นทั้งนี้ ขณะนี้ รัฐบาลก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพแล้ว ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็ต้องมีการปรับตัว เพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการผลิต

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์