KBANK รื้อพอร์ตสินเชื่อ2 ล้านล้าน จ่อถกลูกค้าปรับธุรกิจ มุ่งสู่ ESG

KBANK รื้อพอร์ตสินเชื่อ2 ล้านล้าน จ่อถกลูกค้าปรับธุรกิจ มุ่งสู่ ESG

กสิกรไทย” เตรียมงบลงทุน 2 แสนล้าน รองรับภาคธุรกิจเดินหน้าสู่เน็ต ซีโร่ ปี 73 ยอมรับหนี้เสียขยับเพิ่ม หลังลูกค้าตกชั้น ปรับโครงสร้างหนี้ซ้ำซาก มั่นใจยังอยู่ในกรอบบริหารจัดการได้

    นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา “ESG Forum” ภายใต้หัวข้อ “จุดเปลี่ยน...ศักยภาพใหม่เศรษฐกิจไทย” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า ESG หรือ Environmental, Social, Governance

     คือ การดำเนินธุรกิจ ภายใต้การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนศักยภาพใหม่ของเศรษฐกิจไทย
 

     ดังนั้นหากแบงก์ไม่ทำเรื่อง ESG ผลที่ตามมาคือ ผู้ลงทุน ลูกค้าขาดความเชื่อมั่น เสียชื่อเสียง

     และเสียโอกาสในการทำธุรกิจในอนาคต ดังนั้น ESG ไม่ใช่การทำ CSR หรือ การกุศล แต่เป็นเรื่องธุรกิจล้วนๆ ที่ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น
 

      โดยเป้าหมายของธนาคารกสิกรไทย  คือ  “GO GREEN Together” เพื่อสนับสนุนให้เกิด Green Ecosystem สู่การเป็น Net Zero ภายในปี 2573

      ปัจจุบันมีวงเงินลงทุนที่เตรียมไว้ 2 แสนล้านบาท  เพื่อใช้สนับสนุนธนาคาร สนับสนุนลูกค้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้าน ESG หรือ เศรษฐกิจสีเขียว โดยสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย

     “ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อ 2 ล้านล้านบาท โดยวันนี้ธนาคารกำลังเร่งหารือกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม จาก 4 กลุ่มหลักๆ เพื่อผลักดันลูกค้าไปสู่  Net Zero เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารจะเลิกปล่อยสินเชื่อ และคาดว่าภายในปี 2573 ลูกค้ากลุ่มนี้จะสามารถเป็น Net Zeroได้”

         อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจไปสู่ ESG ได้ ต้องทำ 8 ด้านสำคัญที่ต้องทำ ด้านแรก คือ การเปลี่ยน Mindset หรือแนวคิด ให้เป็น Game Changer ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง 2.ต้นทุนที่ถูก สินค้าจะต้องได้ 3.การระดมเงินทุน หากสามารถระดมทุนจากคนที่มีแนวคิดเดียวกันจะทำให้การระดมทุนง่ายขึ้น

      4.การทำต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอ 5.ทำงานร่วมกับอีโคซิสเต็ม เพื่อเดินไปสู่ ESG ด้วยกัน 6.Operation ที่ต้องยั่งยืน 7.บุคลากรที่ต้องให้ความสำคัญด้าน ESG มากขึ้น และ 8.Low cost financial การวางแผนระดมเงินทุนจะต้องต่ำที่สุด

       ในส่วนภาพรวมแบงก์ปัจจุบัน ยอมรับว่าหนี้เสียในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเชื่อว่าจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และคาดว่าหนี้เสียปีนี้น่าจะยังอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ได้ที่ 3.7-4%  

      หลักๆ มาจากลูกหนี้ที่ตกชั้นในหลายกลุ่ม ทั้งเอสเอ็มอี รายย่อย  เพราะ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งลูกหนี้ส่วนใหญ่อ่อนแอมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19ทำให้การฟื้นตัวยากมากขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์